แผนผังความคิด:วัฏจักรแห่งสมอง-จิต-ชีวิต-งาน-ความสุข
โดยเพิ่มเรื่อง“การจัดการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์”(กรอบที่8) และคำอธิบายเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสมอง ทำให้แบ่งสมองออกเป็น 3 ส่วนในกรอบที่ 1
แผนผังความคิด เรื่อง”วัฏจักรแห่งสมอง – จิต – ชีวิต – งาน – ความสุข” ตามลำดับเลขที่กรอบข้อความ
กรอบที่ 1 องค์ประกอบของชีวิต
กรอบที่ 1 องค์ประกอบของชีวิต (ได้แก่ ร่างกาย-สมอง- จิตใจ ซึ่งเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม)โดยมีสมองเป็นศูนย์บัญชาการ ทำหน้าที่เกิดสิ่งที่เรียกว่า“จิต” “ใจ” หรือ “จิตใจ” ได้แก่ รับรู้ รู้สึก นึกคิด จดจำ และสั่งการ…
แง่มุมวิวัฒนาการของมนุษย์มาในช่วงเวลายาวนาน แบ่งสมองเป็น 3 ส่วน
(1) สมองส่วนหลัง มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลาน เรียกว่า”สมองตะกวด”
ทำหน้าที่เกี่ยวกับสัญชาตญาณเพื่อการอยู่รอด
(2) สมองส่วนกลาง มีวิวัฒนาการมาจากสัตวNเลี้ยงลูกด้วยนมชั้นต่ำ เรียกว่า ”สมองสุนัข”
ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ แรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดความจำฝังใจและความจำระยะยาว
(3) สมองส่วนหน้า พัฒนาสูงสุดในมนุษย์ เรียกว่า”สมองมนุษย์”
ทำหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญา การใช้เหตุใช้ผล การรู้ตน รู้เขา การยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ ความสำนึกในศีลธรรมและความดีงาม ฯลฯ
โดยธรรมชาติ สมองมนุษย์ (สติปัญญา เหตุผล) ทำงานช้ากว่า สมองตะกวด (สัญชาตญาณ และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามนิสัย ความเคยชิน) และ สมองสุนัข (อารมณ์) 5 – 20 เท่า คนเราจึงรับรู้สิ่งเร้าจากภายนอกด้วยอารมณ์และความเคยชินมากกว่าเหตุผล และเกิดการตอบโต้จนมีความเครียด(ความทุกข์) จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาตนและจิตใจ
กรอบที่ 2 กลไกการเกิดอารมณ์และพฤติกรรม
กรอบที่ 2 กลไกการเกิดอารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งมีระบบคิด/มุมมอง (มีรากเหง้าจากการรับรู้ในอดีต – ความจำ – ในรูปของข้อมูล ความรู้ ความเชื่อ ค่านิยม ประสบการณ์ ความเคยชิน นิสัย ปมด้อย ปมฝังใจ ต่อมsensitive ฯลฯ) เป็นตัวกรอง(คล้ายแว่นสีต่างๆ) ที่กรองการรับรู้ต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นในชีวิตและงานของเราในแต่ละวัน เป็นไปในลักษณะที่มักมีอคติ ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง(ภาววิสัย-objectivity)ที่ปรากฎต่อเบื้องหน้าเราในปัจจุบันขณะ ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึก ความนึกคิด และอารมณ์ที่เป็นลบ และกระเทือนต่ออัตตา(ego/self) กล่าวคือ ความรู้สึก“ตัวกู”/”ของกู” ถูกกระตุ้นให้ผุดบังเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง ปานสายฟ้าแลบ เกิดอาการ “วีน” “ปรี๊ด” “องค์ลง” หรือ“เบรกแตก” จนก่อเกิดพฤติกรรมที่เป็นลบ (และอาจถึงขั้นทำร้าย/ทำลายคนอื่น/ตัวเอง) ตามมา นำมาซึ่งความเครียด /ความทุกข์ (stress / mental suffering) เรียกปฏิกิริยาอันเป็นโทษหรืออกุศล(harmful)นี้ว่า ”เส้นทางนรก”
กรอบที่ 3 มรรควิธีในการป้องกันและจัดการกับความเครียด (ความทุกข์)
กรอบที่ 3 มรรควิธีในการป้องกันและจัดการกับความเครียด (ความทุกข์) คือ การบริหาร(ฝึกฝนตนเอง) 8 วิธี (มรรค 8) ช่วยพัฒนาร่างกาย สมอง และจิตใจ
กระตุ้นให้เซลล์สมองงอกใหม่ (neurogenesis) และปรับวงจรใหม่ (neuroplasticity , rewire) โดยเฉพาะอย่างยื่งเปลือกสมองส่วนหน้า (prefrontal neo -cortex) ที่ทำหน้าที่”จิตสูง”ของมนุษย์ ให้มีสติปัญญาสมบูรณ์ (“สมองมนุษย์”ทำงานได้ไวทันและสามารถควบคุมกำกับ”สมองตะกวด และ “สมองสุนัข”) เกิดการรู้ตน* (ที่สำคัญคือ การตามดูรู้ทันความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตน) รู้เขา(เข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น) รู้จักยับยั้งชั่งใจ ควบคุมร่างกายและอารมณ์ให้สงบ สำนึกในศีลธรรม(มโนสำนึก)ด้วยตนเอง มีจิตเมตตากรุณา
หากยืนหยัดทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่องก็จะเกิด สติอัตโนมัติ และ ปัญญาอัตโนมัติ รู้เท่าทัน(ตนเอง ผู้อื่น สังคม และโลก) และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์(EQ) ที่สมบูรณ์(กรอบที่ 4) มีระบบคิดและมุมมองที่ปลอดจากอคติ (มีความคิดที่ตรงกับภาววิสัย- objectivity) กำกับ ทำให้รับรู้ตามความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหน้าเรา ทำให้มีความรู้สึก นึกคิด อารมณ์ และพฤติกรรมด้านบวกที่เป็นคุณ (กุศล) มีชีวิตและงานที่มีประสิทธิภาพ และ มีความสุขสงบ ขอเรียกปฏิกิริยาอันเป็นคุณหรือกุศล (useful)นี้ว่า เส้นทางสวรรค์
การบริหาร 8 วิธี ยังช่วยให้มีระบบคิดแบบเปิดหรืองอกเงย(growth mindset) แทน ระบบคิดแบบปิดหรือตายตัว (fixed mindset) (กรอบที่ 5) เกิดการเรียนรู้และเติบโต ให้เกิด ” 4เก่ง” “7 รู้” และ “7 อุปนิสัย” (กรอบที่ 6) ส่งผลให้เกิด “3 แนวทางสร้างสุข” (กรอบที่ 7) ซึ่ งเสริมแรงให้กลไกการเกิดอารมณ์และพฤติกรรมเป็นไปในทางบวก นำมาซึ่งความสุขสงบอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันก็กลับมาส่งเสริมการพัฒนาตนให้เกิด ” 4เก่ง” “7 รู้” และ “7 อุปนิสัย” ที่สมบูรณ์ยิ่งๆขึ้น และกลับมาหนุนเสริมให้มีการบริหาร 8 วิธีอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากขึ้น มีผลต่อการพัฒนาร่างกาย สมองและจิตใจมากยิ่งๆขึ้น …… กลายเป็นวัฏจักรเสริมแรงบวกไปเรื่อยๆไม่รู้จบ …. ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เรามีทักษะใน ”การจัดการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์” (กรอบที่8)ที่เข้มแข็งยิ่งๆขึ้น
สรุป ต้องเริ่มต้นด้วยการหมั่นฝึกฝนตนเองตามกรอบที่ 3
จะอ่านจะฟังอะไรดีๆมามากมายนั้น ยังไม่พอ ต้องลงมือทำ ทำ และทำเท่านั้น
To Learn, To Commit & To Do” คือ “รู้ – มุ – ทำ
จงระลึกไว้เสมอว่า “รู้ว่าดีแล้วไม่ทำก็เหมือนกับไม่รู้” ”เวลาและวารี มิคอยใครใฝ่ธรรม-ทำ” และ “ปัญญารู้ได้ด้วยการสนทนา แต่ปัญญาย่อมเกิดเพราะใช้การ”
“Learning by Doing / Learning by Practice “
*ปัจจุบัน ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมอง บ่งบอกว่ามีส่วนของสมองหลายส่วนที่ทำหน้าที่รู้ตน เช่น
(1)ด้านหน้าของเปลือกสมองส่วนหน้า (anterior prefrontal neo-cortex) ทำหน้าที่ในการตามรู้ความคิด (thinking about thinking) ของตัวเอง และตามรู้ว่าตัวเองรู้หรือไม่รู้อะไร (knowing about knowing) ดังที่เรียกว่า “อภิปัญญา (metacognition)” พูดง่ายๆ ก็คือทำหน้าที่มองตนหรือทบทวนตัวเองนั่นเอง
(2)เปลือกสมองส่วนหน้าตรงกลาง(middle prefrontal neo-cortex) อยู่ตรงกับตำแหน่งตรงกลางระหว่างหัวคิ้ว ๒ ข้าง ซึ่งตรงกับสิ่งที่เรียกว่า“ตาที่ ๓” ทำหน้าที่รู้แจ้งในตนเอง (insight หรือ self- knowing awareness)
(3)เปลือกสมองที่มีชื่อว่า“อินซูล่า(insula)” อยู่ระหว่างสมองกลีบกลาง(parietal)กับกลีบข้าง (temporal) ทำหน้าที่จับทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใร่างกาย (เช่น อาการใจสั่น จุกแน่น ปวดท้อง) ทำให้มีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น(อันกระตุ้นให้เกิความรู้สึกดังกล่าว) ก็จะช่วยให้อารมณ์นั้นทุเลาลงทันที ดังงานวิจัยโดยการถ่ายภาพสมองพบว่า เมื่อรู้ตัวว่ากำลังโกรธ สมองส่วนอารมณ์ที่ทำหน้าที่นี้จะลดการทำหน้าที่ลง (คือหายโกรธ) ทันที …..
ดังนั้น กล่าวได้ว่า ด้วยโครงสร้างและหน้าที่ของสมองดังกล่าว คนเราจึงมีความสามารถในการรู้ตน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่เอื้อให้เกิดความสุข