อารมณ์เป็นสิ่งจำเป็นในการตัดสินใจ
ความสามารถในการครองสติและรู้เท่าทันสติ
อารมณ์ทำงานเร็วกว่าความคิด
เราไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลย หากไม่มีสมองด้านอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง
สมองส่วนคิดและสมองส่วนอารมณ์
5 ข้อต้องรู้ ถ้าไม่อยากเป็นทาสความคิด
1.แม้ใช้เหตุผล ก็มีอารมณ์อยู่เบื้องหลัง
เหตุใดการพูดคุยกันด้วยเหตุผลหรือการตัดสินใจด้วยเหตุผลจึงอาจไม่ได้ลดความทุกข์ในหัวใจ เหตุใดจึงมีความวุ่นวายในที่ๆ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ใช้เหตุผลของตนเอง เหตุใดคนเราจึงตกอยู่ภายใต้ความคิดดูที่มีเหตุผลเหลือเกินแต่ไม่ช่วยให้สถานการณ์และชีวิตดีขึ้น.ความล้มเหลวของการใช้ความคิด เริ่มจากการไม่รู้เท่าทันอารมณ์ที่อยู่เบื้องหลัง เพราะเรามักคิดว่าตนเองนั้นใช้เหตุผลแล้ว แต่มักคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมฟังเหตุผลหรือทำตามอารมณ์อำเภอใจ โดยหารู้ไม่ว่า เราเองก็ไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างแท้จริงเหมือนกัน เพราะความคิดมักถูกผลักดันด้วยอารมณ์ที่ไม่รู้สึกตัว.สังเกตได้ว่าเวลาอารมณ์ดี ความคิดและการใช้เหตุผลของเราจะเป็นอย่างหนึ่ง เวลาไหนอารมณ์ไม่ค่อยดี ความคิดและการใช้เหตุผลของเราอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แม้ในเรื่องเดียวกัน.ในทางจิตวิทยาเบื้องหลังพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์ มีอารมณ์ความรู้สึกซ่อนอยู่ข้างใต้เสมอ ทั้งอารมณ์ที่สังเกตได้ง่ายและสังเกตได้ยาก โดยเบื้องหลังของอารมณ์นั้นๆ ก็มักมีความต้องการพื้นฐาน (Need) เป็นเบื้องหลังอีกทีหนึ่ง.ดังนั้นแล้ว ความคิดก็เป็นเพียงเครื่องมือที่เราใช้เพื่อตอบสนองอารมณ์ของใจอันเนื่องมาจากความต้องการพื้นฐาน เราใช้ไปโดยอัตโนมัติ.ในทางพุทธศาสนาความคิดก็เป็นเพียงการปรุงแต่งขึ้น สืบเนื่องมาจากอารมณ์ ความจำได้หมายรู้ และการรับรู้ผ่านอายตนะเป็นที่มา เมื่อขาดสติแล้ว เหตุผลที่ว่าดี (สำหรับเรา) ก็เป็นเหมือนเรือที่ลอยลำอยู่บนน้ำ พร้อมที่จะแปรเปลี่ยนไปตามอารมณ์และการรับรู้ของเราเอง.อารมณ์ที่ว่านั้นมีทั้งลักษณะเป็นสุข (สุขเวทนา) เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนา) และไม่รู้ว่าสุขหรือทุกข์ (อทุกขมสุขเวทนา) ทั้งสามอารมณ์เมื่อเกิดขึ้นย่อมมีผลชี้นำทิศทางความคิด ซึ่งความคิดที่ว่านั้นอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือมีความคับแคบเกินไปตามมุมมองความเชื่อของตนเอง.เวลาเราชอบสิ่งใดหรือเพลิดเพลินกับอะไร เรามักหาเหตุผลที่ดีให้สิ่งนั้นได้เสมอ และพร้อมที่จะปกป้องความคิดนี้หากมีใครค้าน เมื่อเราไม่ชอบสิ่งใดหรือไม่เพลิดเพลินกับอะไร เรามักหาเหตุผลแย่ๆ ให้กับสิ่งนั้นได้อย่างไม่ยากเย็น ปัญหาจึงเกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้เข้าใจความคิดของตนเองอย่างแท้จริง เรานึกว่าเหตุผลที่ใช้นี้ถูกต้องแล้ว มีหลักการและหลักฐานแล้ว เราพูดและทำตามเหตุผลที่ควรแล้ว แต่ปัญหาและความทุกข์ก็เกิดขึ้นเพราะเราไม่รู้เท่าทันว่าความคิดพร้อมที่จะเอนเอียงมากเพียงใด แล้วเราก็มักพยายามปกป้องความคิดของตนอย่างแข็งขัน.เหตุที่เราตอกย้ำตนเองด้วยความคิดแบบเดิมๆ เหตุผลแบบเดิมๆ กระโดดออกมาจากความคิดแบบนี้ไม่ได้เสียที เพราะความคิดเหล่านี้เกิดมาจากอารมณ์ความรู้สึกข้างในที่ยังคงมีอยู่ ไม่ได้รับการดูแลและการตอบสนองที่เหมาะสม ความคิดจึงปรุงแต่งไปแบบเดิมไม่สิ้นสุด เสมือนมีเด็กน้อยในตัวเราที่รู้สึกหิวโหยหรือขาดแคลนทางใจ คอยพยายามส่งเสียงร้องอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะได้รับการตอบรับ เช่นเดียวกันกับความคิดและเหตุผลที่วนเวียนในหัวเรา.ความรู้สึกข้างในที่ผลักดันเหตุผลของความคิดดังกล่าว อาจเป็นปมมาแต่อดีต อาจมาจากความทุกข์ที่เราต้องเผชิญเมื่อวัยเด็ก เราจึงมีเหตุผลที่จะคิดเช่นนี้ การเยียวยาบาดแผลทางจิตใจจึงเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาความคิด เมื่อความรู้สึกทางใจของเราได้ผ่อนคลายลง เราก็จะพร้อมที่จะใช้การคิดอย่างเต็มประสิทธิภาพหรือพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองของตนเอง.ดังนั้นแล้ว เราอย่าเพิ่งว่าใครเลยหากเขาดูเหมือนจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เราต่างฝ่ายต่างก็ใช้เหตุผลของตนเองอยู่ แต่เหตุผลนั้นก็หมุนเวียนไปตามอารมณ์ ความต้องการ และการรับรู้ของแต่ละฝ่าย.เราจะใช้ความคิดอย่างชัดเจนและเหมาะสมที่สุด เราต้องรู้ทันอารมณ์เบื้องหลังความคิด และความต้องการของตนเองที่คิดเช่นนั้น นอกจากเราควรคิดก่อนพูดหรือ คิดก่อนทำแล้ว ก่อนเชื่อความคิดที่ว่านี้ พึงตรวจสอบอารมณ์ การรับรู้ และใจของตนเองก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเราคือผู้คุมบังเหียนความคิด มิใช่เป็นผู้ถูกฉุดลากด้วยอารมณ์ไปพร้อมกับความคิดนั้น.การเผยแพร่ความคิดและเหตุผลที่ก่อตัวมาจากอารมณ์ลบและอกุศลต่างๆ ที่ผู้คิดมิรู้ตัว นอกจากจะบั่นทอนตัวเองเพราะการคิดนั้นๆ แล้วก็มักนำมาซึ่งการพูด การกระทำ และการใช้ชีวิตที่บั่นทอนตนเอง และยังสามารถเป็นลมโหมกระพือเชื้อไฟความขัดแย้ง สุมความทุกข์ในใจของผู้คนรอบข้างและสังคมสืบไปอีกด้วย..อ่านต่อด้านล่าง หรืออ่านต่อที่เว็บไซต์http://youngawakening.org/write4life/ทาสความคิด/
2 สิ่งที่คิดมักดูดีหรือเลวร้ายกว่าความจริง
เหตุใดสิ่งที่คิดกับสิ่งที่เป็นความจริงมักไม่เหมือนกัน แล้วเหตุใดเราจึงมักเชื่อว่าสิ่งที่คิดกับความเป็นจริงเหมือนๆ กัน กระบวนการความคิดของมนุษย์มีศักยภาพมากมาย หนึ่งในความสามารถของจิตนั้นคือการขยายให้เด่นชัด (Amplify) คือการทำให้ความรู้สึกของใจและการรับรู้มีขนาดและความเข้มข้นที่มากเกินจริง (รวมทั้งน้อยกว่าที่เป็นจริง).เวลาเราทุกข์ใจหรือจะต้องเผชิญกับสิ่งที่น่ากลัว ความคิดเราอาจจะสร้างภาพหรือความรู้สึกที่เลวร้ายในใจ หรืออาจทำให้เรารับรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าในทางที่ย่ำแย่ที่สุด กลไกนี้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เราตื่นตัวพร้อมที่จะปกป้องตนเอง หรือเวลาที่เราตั้งความหวังไว้กับสิ่งใดมาก ความคิดเราก็อาจสร้างภาพหรือความรู้สึกที่สวยงามในการเอื้อมคว้าสิ่งดังกล่าว เสมือนดังว่าสิ่งนั้นล้ำค่าและสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งที่ความจริงแล้วอาจไม่ได้ดีอย่างที่คิดหวังไว้.หลายๆ ครั้งความทรงจำเราก็มีความวิปลาสหรือความผิดเพี้ยนเกินจริงไป เพราะความทรงจำนั้นก็เกิดขึ้นจากจิตหรือสมองเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในตนเอง ความคิดจึงมีการดัดแปลงแก้ไขข้อมูลที่รับรู้มาจากอายตนะ เพื่อให้จิตเราสามารถจดจำและเข้าใจได้ แล้วหากมีอารมณ์ร่วมในการเหตุการณ์ที่ว่าด้วย ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าความทรงจำนั้นจะถูกตกแต่งเกินกว่าความที่เป็นจริง เพื่อแสดงออกความรู้สึกนั้นๆ ให้ใจจดจำได้.ความกลัวมักทำให้สิ่งที่เรากลัวดูน่ากลัวกว่าที่เป็นจริง เพราะกลไกการขยายให้เด่นชัดของจิตนั้นพยายามปกป้องตัวเรา แต่บ่อยครั้งที่มันได้ทำให้เราลืมความกล้าหาญที่เรามีอยู่แล้ว ทำให้เราคิดถึงแต่แง่ลบของสิ่งนั้นๆ หรือคิดไปเองว่ามันเลวร้ายเพียงใด ทั้งที่ความจริงแล้วอาจมิใช่เช่นนั้นเลย การขยายให้เด่นชัด ยังเกิดจากความรู้สึกชอบพอใจด้วย ยกตัวอย่าง เหมือนกับเราได้พบคนที่มีลักษณะที่น่าหลงใหล เราอาจได้แต่เฝ้ารักข้างเดียว หรือเพิ่งคบกันได้ไม่นาน ความพอใจที่มีต่ออีกฝ่ายย่อมทำให้เราพร้อมที่จะพร่ำเพ้อพรรณนา และรู้สึกว่าข้อดีของอีกฝ่ายนั้นช่างล้ำค่าเพียงใด ก่อนที่เราจะรู้ความจริงที่เจ็บแสบจากการตกหลุมรัก.ประสบการณ์ที่เราพบเจอ ซึ่งจะกลายเป็นความทรงจำ เราอาจรับรู้และเข้าใจเหตุการณ์นั้นได้ไม่หมดในคราวเดียว เพราะความรู้สึกร่วมต่อเหตุการณ์นั้นย่อมทำให้สมองเลือกจดจำบางส่วน ไม่จดจำบางส่วน และขยายส่วนที่จดจำนั้นให้ชัดเจนไปในทิศทางตามอารมณ์ความรู้สึก อีกทั้งยังเป็นเพราะว่าการรับรู้ของเรามีขอบเขตที่จำกัด เราจึงไม่สามารถที่จะเข้าใจเหตุการณ์ที่ว่านั้นได้อย่างเต็มร้อย ได้แต่เพียงตีความไปตามมุมมอง การรับรู้ของตนเอง และข้อมูลที่มีมา.การรับรู้นั้นจำกัดเป็นเพราะว่าอายตนะเช่น ตา หู จมูก ลิ้น และกาย มีขอบเขตที่จำกัด สัตว์บางประเภทนั้นยังรับรู้บางอย่างได้ดีกว่า เขาย่อมเข้าใจโลกในบางแง่มุมมากกว่าเราที่เป็นมนุษย์ อีกทั้งอายตนะอีกอย่างคือ ใจ หรือความคิดนึกและสัมผัสทางใจ ก็มีขอบเขตที่จำกัดเช่นกัน ขอบเขตที่ว่านั้น เช่น ความเชื่อหรือความคิดเห็นที่มีมา เรียกว่า ทิฐิ.เปรียบน้ำเต็มแก้วดั่งสมองที่เต็มไปด้วยการยึดถือในความคิดของตนเอง เมื่อเราได้พบเจอกับเหตุการณ์หนึ่งหรือเข้าอบรมเรียนรู้ สมองก็ไม่อาจซึมซับและเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับอย่างเต็มที่ได้ ดั่งเติมน้ำเพิ่มลงไปในแก้วที่น้ำเปี่ยมแล้วก็ล้นออก เราจึงไม่ได้เติบโตตามประสบการณ์ที่มีมากขึ้นเสมอไป อยู่ที่ว่าเราเลือกเป็นแก้วน้ำแบบไหน.หากเราถือมั่นในทิฐิหรือความคิดความเชื่อของตนเองแล้ว เมื่อนั้นเราก็จำกัดการรับรู้ทางใจของตนด้วยทิฐิของตนเอง การยึดถือทิฐินั้นในทางพุทธเรียกว่า “ทิฏฐุปาทาน” เมื่อเราถือในทิฐิก็เสมือนเราเป็นม้าแข่งที่ถูกครอบบังตาด้านข้างไว้ทั้งสองฝั่ง เราก็จะเห็นโลกแค่ส่วนเดียว คือตรงหน้าที่อารมณ์หรือกิเลส (ความมัวหมองของใจ) ซึ่งเป็นเหมือนผู้ขี่ครอบงำความคิดกำหนดให้มองเท่านั้น เพื่อที่จะมุ่งหน้าไปตามอารมณ์และความอยาก.อุปาทานหรือการยึดมั่นทั้งหลาย เช่นการยึดมั่นในความคิดเป็นต้น ล้วนแต่ปรุงแต่งมาจากเวทนาและตัณหา (ความทะยานอยาก) เมื่อใจรับรู้อารมณ์แล้วก็มีความอยากที่จะเสพอารมณ์นั้นหรือเป็นแรงผลักดันให้มุ่งหมายต่างๆ นานา จึงเกิดเป็นความหมายมั่นคือการยึดติดทั้งหลาย .ดังนั้นแล้ว ความคิด และ ความทรงจำของเรา ไม่ใช่สิ่งที่เชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มักจะมีการปรุงแต่งให้เกินจริงหรือผิดเพี้ยนไปจากความจริง ตามอารมณ์และความอยากที่อยู่เบื้องหลังหรือข้อจำกัดของการรับรู้เสมอ.ความคิดมักคับแคบกว่าความจริง เพราะขีดจำกัดของการรับรู้ อารมณ์ และความเชื่อที่มีมาของใจเราเอง ทำให้ความคิดที่ปรุงแต่งขึ้นมานั้นไม่ได้ครอบคลุมความจริงได้ทั้งหมด สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอย่างนั้นจึงมักเป็นเพียงแค่ด้านเดียวหรือบางส่วนที่เป็นจริงเท่านั้น อย่างการที่เราคิดว่าตนเองเป็นคนอย่างไร ดีไม่ดีอย่างไร ก็มักเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ของสิ่งที่เราเป็นเท่านั้น เราไม่ได้เป็นคนแบบนั้นตลอดเวลา และเราอาจมีข้อดีและข้อเสียที่ไม่รู้ตัวอีกมากมาย สิ่งที่เราเป็นจริง มักกว้างกว่าสิ่งที่เชื่อว่าเป็น.เหตุที่ทำให้เชื่อว่าสิ่งที่คิดเหมือนกับความจริง หรือทึกทักไปว่าความคิดคือความจริงด้วย ก็เพราะการหมายมั่นในความคิด หรือทิฏฐุปาทาน เราถือเอาความคิดตนเองเป็นที่สุด ด้วย “มิจฉาทิฐิ” หรือความเห็นที่ผิด ความคิดนั้นก็เป็นเหมือนเงาของผิวน้ำที่สะท้อนดวงจันทร์ ความคิดเพียงสะท้อนภาพของความจริง แต่ไม่ใช่ตัวความจริงที่กล่าวถึง เหมือนกับเงาผิวน้ำก็มิใช่ดวงจันทร์ เพียงแค่สะท้อนแสงจันทร์เท่านั้น ภาพของสิ่งใดๆ ที่เราคิดในใจก็เพียงการสะท้อนมุมมองหนึ่งของสิ่งดังกล่าวออกมาเท่านั้น.การขยายให้เด่นชัดก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนของผิวน้ำ เวลาผิวน้ำสะท้อนอะไรก็อาจมีลักษณะที่เพิ่มเติมมา เช่นเป็นลายริ้วๆ เล็กลง หรือใหญ่ขึ้น การขยายให้เด่นชัดมีประโยชน์ในการนำมาสร้างสรรค์งานศิลปะ การใช้จินตนาการ การบันเทิง และการสื่อสารเพื่อเกิดการประจักษ์ร่วมในสังคม ซึ่งต้องใช้ความสามารถของสมองในการตกแต่งความจริงให้มีสีสันและความน่าสนใจ .ในการบำบัดทางจิตร่วมสมัยก็นำความสามารถนี้มาใช้เช่นกัน เช่นการให้แสดงออกทางความรู้สึกผ่านการวาดภาพ การเคลื่อนไหว หรือการแต่งนิทาน โดยขยายให้มีรายละเอียดมากขึ้นหรือเปรียบเทียบเชื่อมโยง ส่วนที่เกินจริงหรือเป็นการเปรียบเทียบก็จะสะท้อนความรู้สึกและประสบการณ์ของคนไข้ที่อยู่ลึกกว่าจิตสำนึก หรือใช้การจินตภาพเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสิ่งรบกวน เพื่อทำให้ความรู้สึกของคนไข้ต่อสิ่งดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปหรือลดทอนความกลัวลง.จิตมีการใช้การขยายให้เด่นชัดอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่มักเป็นไปอย่างขาดสติ เราก็สามารถใช้พลังของการขยายของจิตเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองอย่างมีสติได้ เช่นการกำหนดภาพในใจของสิ่งที่กลัวหรือลังเลใจ แล้วลองแปรเปลี่ยนภาพนั้นในใจให้น่ากลัวขึ้นบ้าง น่าตลกหรือน่ารักบ้าง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เราก็จะสามารถแปรเปลี่ยนการรับรู้ต่อสิ่งนั้นๆ ให้ลดทอนความรู้สึกหรือมุมมองเดิมๆ ของตนเองได้ และรับรู้ว่าเราคือผู้กุมบังเหียนของความคิด มิใช่ต้องยอมให้ความคิดกุมบังเหียนของเรา.ความคิดมิใช่สิ่งที่ต้องเกิด แต่เป็นสิ่งที่เราเลือกให้เกิดเองตามความเคยชินของใจ เมื่อใดที่เราก้าวข้ามความเคยชินนั้นได้ เราก็จะเป็นอิสระจากความคิดมากยิ่งขึ้น
3 คิดเพื่อปกป้องตนเอง หรือคิดเพื่อหาทางออก
เมื่อเราเจอสถานการณ์ต่างๆ ในวัยเด็ก จิตจะสร้างกลยุทธ์ในการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น กลยุทธ์ที่ว่านั้นประกอบไปด้วย ๓ ประการได้แก่การตอบสนองทางอารมณ์ การตอบสนองทางความคิด และการตอบสนองทางการกระทำ อย่างแรกนั้นก็คือความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างที่สองก็คือมุมมองและการหาทางออก ส่วนอย่างที่สามนั้นก็คือท่าทีและสิ่งที่จิตเลือกลงมือทำเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จิตสร้างกลยุทธ์ขึ้นมาเพราะว่ายังไม่มีประสบการณ์และคำตอบล่วงหน้าเกี่ยวกับสิ่งที่เราพบเจอเมื่อตอนเป็นเด็กนั้น.เวลาผ่านไป กลยุทธ์ที่จิตสร้างขึ้นก็สั่งสมกลายเป็นความเคยชิน การตอบสนองทางอารมณ์ ความคิด และการกระทำก็เกิดขึ้นแทบจะอัตโนมัติ เมื่อเราเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันกับสิ่งที่เราเคยเจอ ความคล้ายกันนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสถานการณ์แบบเดียวกัน แค่มีบางอย่างร่วมกันเพียงเล็กน้อยจิตก็พร้อมที่ใช้ความเคยชินเดิมในการรับมือสิ่งที่เกิด แม้มันอาจไม่เข้าด้วยกันได้หรือไม่เหมาะสมก็ตาม.เมื่อเราใช้ความเคยชินเดิมในการรับมือกับปัญหา การตอบสนองทางอารมณ์ก็จะถูกยึดโยงกับอารมณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราก็อาจรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์มากเกินกว่าความจริงที่เกิดขึ้น การตอบสนองทางความคิดก็จะมาจากความเชื่อ เราก็จะเชื่อไปก่อนแล้วว่าเหตุการณ์ที่เจอนั้นเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร และควรทำอะไรก่อนที่จะพิจารณาอย่างดี เพราะการตัดสินไปก่อนล่วงหน้า การตอบสนองทางการกระทำก็เป็นไปตามความรู้สึกและความเชื่อนั้นๆ ด้วยท่าทีแบบเดิมที่ผ่านมา.กระบวนการเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นจากการรับรู้โลกผ่านอายตนะ เกิดเป็นเวทนา และการนึกคิดตีความอย่างขาดสติ แล้วสะสมความเคยชินที่จะรู้สึก นึก และคิดเช่นนั้นอย่างขาดสติ นำมาใช้ใหม่เวียนวนซ้ำเดิมอย่างขาดสติ.กระบวนการดังกล่าวอาจเรียกอีกแบบหนึ่งว่า กลไกปกป้องตนเอง ดังนั้นแล้วความคิดที่เรามักคิดเมื่อเจอกับความทุกข์และสิ่งน่ากลัวทั้งหลาย จึงเรียกได้ว่าเป็นกลไกปกป้องตนเองลักษณะหนึ่ง เราคิดเพื่อปกป้องตนเอง ไม่สู้ก็หนีจากความทุกข์นั้น.เมื่อเราปล่อยให้ความคิดเกิดขึ้นอย่างขาดสติเมื่อเจอความทุกข์ เมื่อนั้นจิตก็เพียงคิดเพื่อปกป้องตนเองไปตามความเคยชินที่ผ่านมา การปกป้องตนเองแบ่งออกคร่าวๆ เป็นสู้กับหนี ถ้าเป็นการคิดเพื่อปกป้องตนเองแบบสู้ ก็อาจเป็นการคิดเพื่อทำลาย ตอบโต้ โทษตัวเอง มุ่งเอาชนะ ฯ หากเป็นการคิดเพื่อปกป้องตนเองแบบหนี ก็อาจเป็นการคิดเพื่อหลบเลี่ยงปัญหา ฟุ้งซ่าน นอกเรื่อง โยนปัญหา โทษคนอื่น ยอมแพ้ ฯ.เมื่อใดก็ตามที่การคิดเป็นไปเพื่อปกป้องตนเอง เมื่อนั้นความคิดก็มักมีลักษณะปลายปิด (convergent หรือ เอกนัย) เป็นการคิดที่มีการตัดสิน เช่น ใช่ไม่ใช่ ถูกหรือผิด จำกัดตัวเลือกหรือทางออกเฉพาะเจาะจง ไม่เปิดกว้าง เน้นข้อมูลและคำตอบที่มีอยู่แล้ว ใช้ตรระกะ และเน้นการเลือกเพื่อการตัดสินใจ ในขณะที่ความคิดอีกรูปแบบหนึ่งคือ ปลายเปิด (Divergent หรือ อเนกนัย) คือการคิดแบบเปิดกว้าง มุ่งหาคำตอบและไอเดียใหม่ๆ ไม่จำกัดทางเลือก ไม่ปิดกั้น ใส่ใจในความรู้สึก และเน้นการสร้างทางเลือกเพื่อเปิดมุมมอง.การคิดแบบปลายปิดมีประโยชน์ในเรื่องการตัดสินใจที่ต้องการความชัดเจน การคิดเกี่ยวกับเรื่องที่มีกลไกและเป็นเรื่องกายภาพที่ต้องอาศัยข้อมูลที่แม่นยำ เช่นการผลิตสิ่งของ และเรื่องเกี่ยวกับวัตถุทั้งหลาย และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนการคิดแบบปลายเปิดนั้นมีประโยชน์สำหรับเรื่องที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ประเด็นทางอารมณ์ความรู้สึกและนามธรรม และการแก้ปัญหาระยะยาว.การคิดเพื่อปกป้องตนเองนั้นก็อาจทำให้เรามุ่งหาข้อสรุปรวบรัดเพื่อตัดปัญหา หรือหนีไปชั่วคราว การคิดแบบนี้ก็คือการคิดแบบปลายปิด สถานการณ์อาจดีขึ้นในชั่วขณะหนึ่ง แต่แล้วปัญหาแบบเดิมก็อาจเกิดขึ้นใหม่ในลักษณะที่แย่ลง หากไม่มีการพินิจต้นตอของปัญหานั้น เมื่อความคิดเป็นปลายปิดทั้งที่สถานการณ์ดังกล่าวเราต้องเปิดกว้างกว่านี้ การอยู่ในกรอบแคบๆ ของความเชื่อที่มีมาก่อนก็จะทำให้ใจปิดกั้นทางออกใหม่ๆ ที่อาจดีกว่าวิธีการที่เคยใช้ เพราะการจำกัดตนเองไว้ในมุมมองเดิม ตัวเลือกเดิม และการตัดสินตนเองและสิ่งต่างๆ ดังเดิม.เราต้องเลือกว่าจะคิดเพื่อปกป้องตนเอง หรือจะคิดเพื่อหาทางออก หากเราคิดเพื่อปกป้องตนเองแล้วเราก็จะได้แต่ปกป้องตนเอง (ชั่วคราว) หรือจะกล่าวอย่างถูกต้องมากขึ้นก็คือ ได้ปกป้องความเคยชินของตนเอง แต่อาจไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเลย ซึ่งบ่อยครั้งปัญหานั้นก็เกิดจากความเคยชินและวิธีคิดที่ไม่เหมาะสม.การคิดทั้งสองแบบนั้นสำคัญและมีประโยชน์แตกต่างกัน การคิดเพื่อปกป้องตนเองก็เช่นกัน แต่หากไม่สามารถเลือกใช้ในเวลาที่เหมาะสมได้ เราก็จะเป็นทาสของความคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่จิตเคยสร้างขึ้นมารับใช้ในการแก้ไขปัญหา แต่แล้วเรากลับกลายเป็นทาสเสียเอง สิ่งที่เราต้องมีเพื่อเอาชนะความเคยชินและการปกป้องตนเองคือการมีสติ รู้ตัว รู้เท่าทันให้พอ เวลาเราทำตามความเคยชิน หรือกำลังคิดเพื่อปกป้องตนเองมากกว่าแก้ปัญหา ต้องเริ่มจากการมีสติรู้ตัว
4 คิดมากเพราะอยากมีตัวตน
เหตุใดเราจึงต้องคิด เหตุใดเราจึงต้องคิดมาก เหตุใดเราจึงหวั่นไหวกับความไม่ชัดเจน เหตุใดเมื่อเราเริ่มไม่มีความคิด จึงรู้สึกหวั่นเกรง.ความคิดอยู่กับเราแทบตลอดเวลาจนมักพลอยหลงคิดว่า เราไม่สามารถหยุดคิดได้ หรือตัวเรานี่แหละคือความคิด ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จัดว่าเป็น มิจฉาทิฐิ หรือความเห็นที่ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะว่ายังขาดความเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหลายแม้ความคิดก็อยู่ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา รวมเรียกว่า “ไตรลักษณ์” คือไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน มีเสื่อมลงไปพร้อมกับก่อทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนของตน.ความหลงผิดนี้ที่ทำให้เราเกิดความเห็นลักษณะที่เรียกว่า “สักกายทิฐิ” คือการคิดทึกทักไปเองว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหลายนั้นมีความเป็นตัวตน มีตัวตนอยู่ข้างใน มีตัวตนฉันอยู่ เป็นตัวตนของฉัน มีอยู่ในตัวตนฉัน *(๑).การคิดที่ขาดสติและความเห็นที่ยังไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงจึงมักมีตัวฉัน มีของๆ ฉัน และความเป็นตัวตนเข้าไปผูกไว้ยึดไว้ด้วยการคิดของเราเอง.ความคิดเป็นเพียงภาพสะท้อนของความจริงเท่านั้น สิ่งที่เราเป็นจริงมีมากกว่าความคิดของตนและคนอื่น ความคิดเพียงสิ่งที่ปรุงจากการรับรู้ เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาบ้าง ในการทำความเข้าใจบ้าง ในการปกป้องตนเองบ้าง ดังนั้นความคิดจึงไม่ใช่ตัวตนเรา.สิ่งที่คิดก็เป็นเพียงการปรุงแต่งจากการรับรู้และข้อมูลที่รับสารสั่งสมมา มาจากความคิดคนอื่นด้วย มาจากประสบการณ์และสิ่งเร้าต่างๆ เป็นแค่การปรุงแต่งที่เกิดขึ้นตามปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ผ่านร่างกายและธาตุในธรรมชาติ ความคิดจึงไม่ใช่ของๆ เรา.ความคิดเองยังเกิดขึ้นบ้าง หายไปบ้าง ประเดี๋ยวจำได้ ประเดี๋ยวก็ลืม วันหน้าอาจคิดแบบใหม่ อารมณ์เป็นอื่นความคิดก็กลายเป็นอื่น ดังนั้นความคิดจึงเป็นเพียงภาวะชั่วครั้งชั่วคราวตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตนที่เที่ยงแท้.ด้วยความหลงผิดนี่เองที่ทำให้เรายึดกุมความคิดในหัวเราไว้เป็นตัวฉัน และเป็นของๆ ฉัน ทำให้เราปล่อยให้จิตคิดไปเรื่อยตามความเคยชินเพื่อให้รู้สึกว่ายังมีตัวตน การที่บางคนหรือตัวเราเองในบางช่วงเวลาไม่ยอมเปลี่ยนความคิดก็เพราะจิตนั้นยึดถือความคิดดังกล่าวเป็นของตน และเป็นตัวตน ด้วยเหตุนี้แล้วการจะต้องเปลี่ยนก็เหมือนเป็นการเสียตัวตนไป จิตจึงมีการต่อต้านและยึดกุมความคิดเดิมไว้ แม้มันอาจเป็นเป็นสาเหตุของปัญหาหรือความทุกข์ก็ตาม เพียงเพราะต้องการรักษาความเป็นตัวตนที่จิตสมมติขึ้น.ความกลัวและความไม่รู้เป็นแรงผลักดันความหลงต่างๆ ของจิตใจ หนึ่งในนั้นคือความกลัวว่าจะไม่มีตัวตน ด้วยเหตุนี้เองเมื่อจิตคลุกคลีกับสิ่งใด สนใจหรือหมกมุ่นกับอะไรมาก จิตจึงมีแนวโน้มว่าจะยึดเอาสิ่งนั้นๆ เป็นตัวตน เป็นของตนเพื่อให้มีตัวตน หากเราเป็นผู้ใฝ่ใจในการทำงานมากก็มีแนวโน้มว่าจิตจะนำการทำงานหรือผลของงานนั้นมาเป็นตัวตนของตน เพื่อให้จิตรู้สึกมีที่ยึดเหนี่ยวโดยหารู้ไม่ว่าความเป็นตัวตนนั้นๆ ไม่มีอยู่ และการถือเอาเป็นตนคือเหตุแห่งทุกข์.สิ่งใดก็ตามที่เรานำมาเป็นตัวตนของตนแล้ว เมื่อสิ่งนั้นถูกกระทบกระทั่ง เราก็จะเป็นทุกข์ เช่นความคิดที่ดูดีเหลือเกินของเราถูกคัดค้านก็อาจทำให้กระวนกระวายใจ นี่เป็นเหตุทำให้เราไม่เปลี่ยนบางความคิด เพราะไม่ยอมปล่อยวางความเป็นตนออกไปจากความคิดนั้นๆ ไม่ว่าเรานำสิ่งใดก็ตามมาเป็นตนและเป็นของตน เมื่อนั้นก็ต้องทุกข์กับการคอยรักษา ห่วงหวง ปกป้อง และต่อสู้แทน.ความคิดที่วิ่งแล่นในหัวแทบไม่พัก เป็นเพียงกลไกที่ขับเคลื่อนจากความกลัวไม่มีตัวตน เราพยายามมีตัวตนผ่านความคิดต่างๆ มากมาย เพื่อนิยามว่าเราเป็นใคร ทำอะไร เป็นอย่างไร มีอะไร และจะทำอะไร เพื่อมิให้รู้สึกโดดเดี่ยวและไร้ค่า ความคิดดังกล่าวเป็นอุปาทานหรือการสมมติว่ามีตัวฉันและของๆ ฉัน ขับเคลื่อนด้วยความอยาก หรือ “ตัณหา” เช่นความอยากได้ อยากเป็น และอยากไม่เป็น ตัณหานี้ก็ผุดเกิดขึ้นเพราะอารมณ์จากการรับรู้ คือ เวทนา และ ผัสสะ ตามลำดับ *(๒).สุดท้ายเราก็กลายเป็นทาสของความคิดเพราะการไม่รู้ตัวและไม่เข้าใจ ปล่อยให้ความอยากมีตัวตน กลัวไม่มีตัวตน ผูกมัดเรากับความคิดแบบหนึ่ง ปล่อยให้การคิดฟุ้ง คิดมาก หรือคิดบั่นทอน ไปตามอารมณ์และการรับรู้ ลากจูงกายใจเราไปในความทุกข์.ดูเหมือนเราจะไม่สามารถหยุดยั้งความคิดและกระบวนการจิตเช่นนี้ได้เลย แต่ก็มิใช่ความจริง เราไม่ได้คิดตลอดเวลา ไม่ได้เป็นทาสความคิดตลอดเวลา ช่วงเวลาที่ปลอดจากความคิดนั้นมีอยู่ในชีวิตประจำวัน แทบทุกชั่วโมง ช่วงเวลาที่เราเป็นอิสระจากความคิดมีอยู่แล้วในชีวิตแต่ละวัน แทบทุกนาที.ในทางพุทธศาสนานั้นการหลุดพ้นแบ่งได้ ๕ ประการ ได้แก่ พ้นด้วยข่มไว้ (วิกขัมภนวิมุตติ) พ้นชั่วคราว (ตทังควิมุตติ) พ้นเด็ดขาด (สมุจเฉทวิมุตติ) พ้นอย่างสงบ (ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ) และพ้นออกไป (นิสสรณวิมุตติ) *(๓).พ้นแบบข่มไว้ และ พ้นชั่วคราว ต่างเป็นสิ่งที่เราฝึกได้ไม่ยากและเผลอกระทำอยู่บ้างแล้วในชีวิตประจำวัน บางครั้งเราก็กดข่มใจไม่คิดและรู้สึกไปตามความอยากและความเคยชิน บางครั้งเราก็ไม่ได้อยากได้ อยากเป็น หรืออยากไม่เป็นอะไร ไม่ได้ยึดถือความมีตัวตนตลอดเวลา เพียงแค่ภาวะพ้นนี้สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฝึกใจอย่างเต็มที่ก็มักเกิดขึ้นจากความบังเอิญพอดีของปัจจัยต่างๆ ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับกิเลสมาประจวบเหมาะ เช่นมีความสงบในสิ่งแวดล้อมรอบตัว มีสภาพร่างกายที่เป็นกลางพอดี มีจิตที่เมตตาในขณะนั้น หรือไม่มีปัจจัยมาปรุงแต่งให้คิดนึก ฯ ทำให้เราพ้นจากการยึดมั่นชั่วคราว และเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ บางครั้งก็ไม่ถึงหนึ่งวินาทีที่ใจเราว่างจากความคิดหรือการยึดติด.ลองสังเกตว่าในหนึ่งวันที่วุ่นวาย มีช่วงเวลาใดบ้างที่เราสงบใจ ก่อนที่จะคิดหรือคิดเสร็จแล้วก่อนจะมีอารมณ์หรือความคิดใหม่เกิดขึ้น ช่วงเวลานั้นๆ มีความว่างหรือการพ้นชั่วคราวอยู่ เป็นช่วงขณะสั้นที่เราไม่ได้หมายมั่นอะไร เป็นระยะเวลามากน้อยเท่าใด ชั่วขณะนั้นเราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์.เราไม่ได้คิดตลอดเวลา ไม่ได้ยึดมั่นในตัวตนตลอดเวลา มีช่องว่างระหว่างการคิดและการปรุงแต่งอยู่ แต่มันเกิดขึ้นไวมากและจากไปไวมาก จึงต้องเพียรฝึกให้การหลุดพ้นเช่นนี้ เกิดขึ้นบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในยามที่เผชิญกับปัญหาหรือความทุกข์ใจ และแม้แต่ยามที่ต้องพบเจอกับความสุขหรือความน่ายินดีก็ต้องฝึกด้วยเช่นกัน มีสติแล้วไม่เอาใจไปคลุกคลี ถอยห่างออกมาเป็นผู้สังเกต ไม่ถือเอาสิ่งที่เกิดมิว่าข้างนอกหรือข้างในใจเป็นตัวฉัน เป็นของฉัน หรือเป็นตัวตน แค่รับรู้ เฝ้าดู คอยมองดูธรรมชาติเกิดขึ้นไปตามธรรมชาติของปัจจัย ไม่มีอะไรต้องสุขหรือต้องทุกข์ไปกับสิ่งเหล่านี้
5 หนทางหลุดพ้นจากบ่วงความคิด
อุบายในการเป็นอิสระจากบ่วงความคิดอาจจำแนกแจกแจงได้หลายแบบหลายแนวทาง แต่ในบทความนี้ขอกล่าวถึงแนวทางและสิ่งที่จะช่วยเหลือให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสของความคิด จำนวน ๙ อย่างด้วยกัน เรียกว่า เก้า ส. (ศ) เพื่อหลุดพ้นจากบ่วงความคิด.ส แรกคือ “สงบ” .เวลาที่กายใจวุ่นวายและร้อนรน ตอนนั้นกลไกปกป้องตนเองมักจะทำงานอยู่ ทำให้เราคิดแบบปลายปิด คิดในมุมแคบ คิดในทางที่จะปกป้องตัวตน หรือคิดอะไรไม่ได้เลย เพราะขาดความสงบ ร่างกายก็จะอยู่ในความตึงเครียด มีแต่ความยุ่งวุ่นวาย รีบร้อน และอารมณ์ต่างๆ รบกวน ความสงบในที่นี้ไม่ใช่เพียงความสงบในสิ่งแวดล้อม แต่หมายถึงความสงบของกาย วาจา และใจของเราเอง ผ่อนเกียร์ ผ่อนคันเร่ง ให้แก่การใช้ชีวิตของตนเองบ้าง.เริ่มจากร่างกายก่อน ให้ร่างกายเราได้ช้าลงและอยู่ในความสงบก่อน เมื่อร่างกายผ่อนคันเร่งลง ใจเราก็จะช้าลงตาม ลองให้เวลาใจหรือความรู้สึกได้สงบลงและช้าลงก่อน ความคิดก็จะช้าลงตามมา ชัดเจนมากขึ้นตาม จากนั้นเราก็จะดูแลจัดการกับความคิดได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะเราเห็นความคิดของตนอย่างชัดเจน.กิจกรรมที่ได้กลับมาอยู่กับร่างกายหรือดึงให้เราทำอะไรช้าลงกว่าความคิดจึงเป็นอุบายสำคัญที่เราควรมีไว้ฝึกทำบ่อยๆ มิว่าจะด้วยการทำโยคะ การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม หรือการเขียนบันทึกด้วยมือ เพื่อให้เวลากลับมารู้สึกตัว และตระหนักว่าเราไม่จำเป็นต้องรีบร้อนวุ่นวายไล่ตามความคิดก็ได้ ปล่อยให้ความคิดคอยเราบ้างก็ได้.ส ที่สองคือ “สติ” .การคิดและความคิด ถือเป็นสังขารหรือการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง *(๔) การปรุงแต่งนี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้หรือความหลงผิดไป เรียกว่า “อวิชชา” เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารเกิดขึ้น *(๕) ความไม่รู้และหลงผิดไปเกิดขึ้นก็เพราะการขาดปัญญาที่จะเข้าใจความจริงอย่างที่เป็นจริงได้ การที่จะมีปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงมากขึ้นได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการมีสติก่อน ดังคำสอนพระพุทธเจ้าซึ่งทรงตรัสว่า….เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตัปปะ (ความรู้ผิดชอบชั่วดี รู้ควรไม่ควร) ย่อมมีแก่บุคคลผู้นั้น เมื่อหิริและโอตัปปะมีอยู่ อินทรียสังวร (ความสำรวมระวัง) ย่อมมีแก่บุคคลผู้นั้น เมื่ออินทรียสังวรมีอยู่ ศีล (การครองตน) ย่อมมีแก่บุคคลผู้นั้น เมื่อศีลมีอยู่ สัมมาสมาธิ (ความมีใจจดจ่ออย่างเหมาะสม) ย่อมมีแก่ผู้นั้น เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสนะ (การเห็นความจริงอย่างที่เป็นจริง) จึงมีแก่บุคคลผู้นั้น *(๖).เราจะเป็นอิสระจากความคิดที่ครอบงำใจ แล้วรู้เห็นโลกตามความเป็นจริง ต้องเริ่มจากการมีสติ คือรู้ตัว รู้เท่าทันตนเองและความคิดในปัจจุบัน การมีสติรู้ตัวในที่นี้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือการระลึกรู้ได้ว่า ตอนนี้กำลังคิดอยู่ และกำลังคิดอะไรอยู่อย่างไร ส่วนที่สองคือการมีสติอยู่ที่ร่างกายของตนเองในปัจจุบัน รับรู้ถึงการหายใจ สัมผัสของลมหายใจ หรือกำหนดสติไว้ที่ร่างกายส่วนอื่นก็ได้ .เริ่มจากการรับรู้ว่ากำลังคิดก่อน รับรู้ว่ามีความคิดอะไรเกิดขึ้นก่อน และตอนนี้จำเป็นต้องครุ่นคิดหรือตั้งใจคิดหรือไม่ หากไม่แล้วพาใจมารับรู้ที่ลมหายใจ สัมผัสของลมหายใจ และการหายใจของตนเอง หรือกำหนดไว้ที่ร่างกายส่วนอื่นตามถนัดก็ได้ ความคิดมักพาให้เราหลุดออกไปจากโลกความจริง อยู่ในหัวของตนเอง แต่การพาสติกลับมาอยู่ที่ร่างกายจะช่วยให้เรากลับมาอยู่กับความจริงมากขึ้น และทำให้จิตมีที่เกาะไว้ ไม่ฟุ้งซ่านคิดเรื่อยเปื่อยไปตามการปรุงแต่ง.หากเราคิดเพลินไปอย่างขาดสติ ความคิดก็จะครอบงำกาย วาจา และใจของเราเมื่อเรามีสติ เราก็จะสามารถเลือกคิดได้อย่างถูกต้อง หรือเลือกที่จะไม่คิดก็ได้ และมีปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ ไปตามความจริง ฝึกพาใจกลับมาหาลมหายใจหรือความรู้สึกในร่างกายให้มาก แม้ทำเพียงหนึ่งนาที หนึ่งนาทีนั้นก็เป็นเวลาที่มีคุณค่าแล้ว.ส. ที่สามคือ “สำรวม” .ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า ความคิดทั้งหลายเป็นการปรุงแต่งที่เกิดจากการรับรู้ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หากเราประมาทในการรับรู้ เพลิดเพลินใจไปกับการรับรู้ หลงไปกับการรับรู้ จิตก็จะคิดปรุงแต่งเป็นความคิดไปเรื่อยอย่างไม่รู้เท่าทัน ดังนั้นเราจึงต้องสำรวมระวังในการรับรู้ หรือเรียกว่า “อินทรียสังวร” ในพุทธศาสนา เมื่อเราได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส หรือได้รู้สึก ต้องมีสติรู้ตัว รู้ยับยั้ง และรู้ระวัง ไม่ปล่อยให้เพลิดเพลินหรือหลงตามไป และรู้จักเลือกในการเสพหรือการรับข้อมูลมาทางอายตนะเฉพาะที่เกิดประโยชน์และไม่ส่งเสริมความโลภ โกรธ และหลง *(๗).ส. ที่สี่คือ “สมาธิ”.ความมีใจจดจ่อการกระทำหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นระยะเวลาหนึ่งก็ถือว่าเป็น สมาธิ แล้ว การมีสมาธิ แม้ในระดับเบื้องต้นก็ดี ย่อมทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมไม่คิดเรื่อยเปื่อยหรือคิดกังวลใจต่างๆ นานา การจะพ้นจากทาสความคิดก็ต้องกำหนดใจให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าที่เรากำลังกระทำ หากความคิดใดหลอกหลอนในใจเรา เราก็เพียงต้องจดจ่อกับสิ่งที่ทำตรงหน้าให้มากขึ้น .สมาธิจะตั้งมั่นไม่คลอนแคลนง่ายก็ต้องอาศัย ส. ข้อที่ผ่านมา ทั้งการสงบกายใจ การมีสติ และการสำรวมระวัง ทั้งสาม ส. นี้ต่างช่วยให้ใจมีสมาธิโดยง่าย.ทั้งนี้การมีสมาธิที่ถูกต้อง หรือ สัมมาสมาธิ ต้องไม่จดจ่อสิ่งใดจนกลายเป็นการหมกมุ่น บางครั้งการเป็นทาสทางความคิดก็เกิดจากเรามีสมาธิที่ไม่ถูกต้อง เพราะไปหมกมุ่นหรือใส่ใจบางเรื่อง (หรือบางคน) มากเกินไป ทำให้คิดตอกย้ำ ย้ำความคิด วนในความคิดบางเรื่องหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเกินควร เมื่อรู้ตัวแล้วว่าเรากำลังมีสมาธิที่ไม่ถูกต้อง เราต้องย้ายสมาธินั้นมากำหนดที่อื่นที่มีประโยชน์แทน ประกอบกับการมีสติเพื่อรู้ตัวว่ากำลังจมในความคิดใดเกินไป หรือมีสมาธิน้อยเกินไปหรือไม่ พร้อมกับการสำรวมระวังกายใจ ไม่ไปยุ่งวุ่นวายกับสิ่งที่จะทำให้เกิดความคิดหมกมุ่นหรือฟุ้งซ่าน.ส. ที่ห้าคือ “สังเกต” .เมื่อมีสติและสมาธิเพียงพอแล้ว พึงสังเกตดูที่มาที่ไปของความคิดของตนเอง ช่วงเวลาไหนบ้างความคิดนี้เกิดขึ้น เราคิดแบบนี้แล้วส่งผลอย่างไรต่อตัวเองบ้าง สังเกตดูว่าความคิดนี้เกิดขึ้นอย่างไรและหายไปอย่างไร เมื่อเรารู้จักความคิดของตนดีพอ เมื่อนั้นก็จะเป็นอิสระ เพราะการคลายจากการยึดมั่นว่ามันเป็นตัวตนหรือเป็นของตน สังเกตเพื่อให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ของความคิด ความทุกข์จากการคิด และความไม่ใช่ตัวตนคงมั่นของการคิด .การสังเกตความคิดทำได้หลายวิธี ทั้งการตรึกตรองในใจอย่างมีสมาธิ การบอกเล่าและปรึกษาครูอาจารย์หรือมิตรที่พร้อมช่วยเหลือ และการเขียนบันทึกจดความนึกคิดในแต่ละวันหรือเขียนเพื่อทบทวนความคิดและเหตุการณ์ชีวิตที่ผ่านมา.ทุกความคิดมีเบื้องหลังเสมอ ลองสังเกตว่าความคิดที่ยึดถือไว้หรือกำลังวิ่งแล่นอยู่ในหัวมีเบื้องหลังอย่างไรบ้าง มีความต้องการและอารมณ์ใดที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตรรกะนี้ เหตุการณ์ไหนในอดีตที่กระตุ้นหรือเป็นบ่อเกิดของความเชื่อแบบนี้ ลองสังเกตความคิดให้ดี ก่อนความคิดจะทำร้ายตนและคนรอบตัวมากไปกว่านี้ .ส. ที่หกคือ “สำรวจ”.การรับรู้มีผลต่อความเชื่อและความนึกคิดของเรา หากเราเปิดโอกาสให้ตนเองได้สัมผัสประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่างจากเดิมบ้าง เราก็จะก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมได้มากขึ้น ลองอนุญาตให้ตนเองได้ซึมซับข่าวสารในมุมมองความเห็นที่แตกต่างจากตนเองบ้าง โดยไม่ด่วนตัดสินตีความถูกผิด ลองทดลองทำสิ่งที่ดีที่มีประโยชน์ต่อตนเองแต่ไม่เคยลงมือทำ ออกไปหาประสบการณ์ชีวิตด้วยการเดินทางไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย พูดคุยและรับฟังผู้คนที่เราไม่รู้จักและใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเรา หรือลองเปิดผัสสะสัมผัสอื่นๆ ที่ไม่ค่อยได้ใส่ใจ เช่นลองดมกลิ่นของดอกไม้และต้นไม้รอบๆ บ้านของตนเอง หรือใช้การสัมผัสด้วยมือสัมผัสสิ่งของต่างๆ ในบ้านด้วยความสงบและใส่ใจ เมื่อเราลองใช้ผัสสะอื่นๆ รับรู้มากขึ้นก็อาจช่วยให้กระบวนการความคิดมีการเปลี่ยนแปลงไป.เรียกว่าหาหนทางพาสมองและจิตเราออกจากกะลาที่ครอบไว้ ด้วยการรับรู้และออกสำรวจโลกและความจริง แล้วเราจะรู้ว่าโลกนั้นกว้างกระโหลกตนมากนัก.ส. ที่เจ็ดคือ “สยบ”.บางความคิดเกิดขึ้นเพื่อปกป้องตัวเราจากความทุกข์และความเจ็บปวด เพราะการไม่สามารถยอมรับความจริงตรงหน้าอย่างตรงไปตรงมาได้ เราจึงสร้างภาพในหัวและหลักการต่างๆ บดบังความจริงที่ว่านี้ หรือทำให้มันซับซ้อนมากจนเกินไป จนบ่อยครั้งมันก็ได้กลบเกลื่อนความรู้สึกแและสิ่งที่เราเป็นจริง .เมื่อเราผิดหวัง ล้มเหลว ไม่พอใจ หรือเป็นทุกข์ ลองใช้เวลาอยู่กับความรู้สึกดังกล่าว โดยไม่ด่วนตีความและตัดสิน ไม่ด่วนใช้หลักคิดและการเหตุผล ฝึกให้หัวใจเราสยบยอมต่อความจริง ไม่หาข้ออ้าง ไม่พยายามหลบหนี ไม่ยกหลักการต่างๆ ขึ้นมา แค่สบตายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น นี่เรียกว่าการสยบยอม หรือ ศิโรราบ ต่อความจริง รับรู้ให้ใจยอมรับว่ามันเป็น “ตถตา” แปลว่า เป็นเช่นนั้นเอง.กลไกปกป้องตัวเองจากความทุกข์ของจิตบ่อยครั้งก็ดลบันดาลให้เราคิดมากมายไม่สิ้นสุด โยงใยกันพัวพันเป็นปมในใจ เพียงแค่การไม่สามาารถยอมรับความจริงบางเรื่องของชีวิต เช่นว่า ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้ ไม่มีสิ่งใดๆ ที่จะพ้นไปจากความเสื่อมลงและการตายจาก ตัวเราไม่สมบูรณ์แบบ เราไม่อาจทำให้ทุกคนรักและเห็นด้วยกับเราได้ เป็นต้น.ความจริงนั้นก็คือธรรม เรายอมรับความจริงของชีวิตมากเท่าใด เราก็เข้าใกล้ธรรมมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเข้าใจธรรมและตถตา เมื่อยอมรับความเป็นเช่นนั้นเองแล้ว มันก็จบ เพราะไม่ต้องคิดหรือหาหลักการใดๆ มาอ้างอิงอีก มันจบลงแล้วแค่นั้นเอง.ส. ที่แปดคือ “ศรัทธา”.การคิดมากเกินไปแบบหนึ่งคือความลังเลใจ ความเคลือบแคลงสงสัย ความไม่อาจวางใจได้ และความวิตกกังวลทั้งหลาย เรียกว่า “วิจิกิจฉา” การแก้ความลังเลเคลือบแคลงใจแบบนี้ หนทางหนึ่งคือการน้อมนำมาพิจารณาด้วยใจหรือกระทำในใจอย่างแยบคาย เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” เพราะสิ่งที่เกื้อกูลให้ความลังเลเคลือบแคลงใจเกิดก็เพราะด้วยการขาดโยนิโสมนสิการ *(๘).หากพยายามคิดแล้วแต่ไม่อาจคลายความลังเลใจ หนทางหนึ่งคือการใช้ “สัททาพละ” หรือพลังแห่งศรัทธา ความวางใจ การปลงใจเชื่อ *(๙) เปิดใจให้ตนเองได้ลองพิสูจน์ก่อน ได้ลองน้อมนำมาปฏิบัติก่อน ลงมือทำไปก่อน ไม่นำความคิดมาตีกรอบตัดสินไปก่อน .ความคิดลังเลใจลักษณะหนึ่งก็มาจากความเคลือบแคลงสงสัยในความสามารถและคุณค่าที่ตนเองมีอยู่ หรือการไม่เชื่อใจในผู้คนรอบข้างหรือสิ่งที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่กล้าที่จะกระทำสิ่งที่ควร หรือทำให้ย้ำคิดลบในใจตนเอง ตรงนี้ก็ต้องใช้ศรัทธาหรือความวางใจเช่นกัน วางใจในคุณค่าและความดีที่เราหรือเขามีอยู่ แต่ยังมองไม่เห็นในตอนนี้ วางใจในการเรียนรู้และการฝึกฝนพัฒนาตนเอง วางใจในสิ่งที่เราเคารพนับถือให้เป็นแรงผลักดัน ใช้ศรัทธามาเป็นพลัง.ยิ่งคิดมากก็ยิ่งมีเงื่อนไขต่างๆ ต่อตนเองและโลกมาก ลองฝึกกลับมาใช้หัวใจ ด้วยการวางใจ เชื่อใจ เปิดใจ ลดตรระกะลงบ้าง ใช้ความรู้สึกให้มากขึ้นบ้าง เราก็จะถ่วงดุลระหว่างสมองกับหัวใจให้สมดุล.ส. ที่เก้าคือ “สละ”.ความคิดก็เหมือนของในลิ้นชัก เมื่อนำของที่ไม่จำเป็นและจำเป็นน้อยออกไป ลิ้นชักก็มีที่ว่าง เหลือแต่สิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ ความคิดจะโล่งและเหลือแต่สิ่งที่จำเป็นไม่ก่อทุกข์และปัญหา เราก็ต้องรู้จักสละออกไปซึ่งสิ่งเกินจำเป็นทั้งหลาย อันเรียกว่า “อกุศลธรรม” สิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์ทั้งหลาย ทั้งในความคิดตนเอง ในการกระทำ และในสิ่งอื่นรอบตัว เราต้องใส่ใจให้น้อยลง ทำให้น้อยลง ระลึกให้น้อยลง เพื่อเลิกไปซึ่งสิ่งเหล่านั้น.หยุดแบกทุกอย่างไว้ที่ตัวเรา ยอมปล่อยมันออกไปจากใจบ้าง ไม่มีสิ่งใดที่เป็นตัวเรา เป็นของๆ เรา และเป็นตัวตนอย่างจริงแท้แม้สักอย่างเดียว ผูกไว้กับใจก็เป็นทุกข์เท่านั้น ใส่ใจไปทุกสิ่งก็ทุกข์เท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนสั้นๆ แก่พระมหาโกฏฐิกะผู้ซึ่งร้องขอให้พระองค์ทรงมอบคำสอนโดยย่อ มีใจความว่า….มิว่าเป็นรูป-การมองเห็น กลิ่น-การรับรู้กลิ่น รส-การลิ้มรส การสัมผัส-การรับรู้สัมผัส อารมณ์และสิ่งที่ใจคิด-ใจที่รับรู้อารมณ์และคิด จนถึงความสุข ความทุกข์ และความไม่สุขไม่ทุกข์ที่เป็นผลจากสิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้ สิ่งใดที่ไม่เที่ยงแท้ ควรละความพอใจในสิ่งนั้น *(๑๐).ทั้งสิ่งที่อยู่ในตัวเราก็ดี สิ่งนอกกายก็ดี อะไรก็ตามที่พิจารณาสังเกตแล้วเห็นความไม่เที่ยงแท้ นำมาสู่ความทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนหรือเอามาเป็นของตนได้อย่างแท้จริง พึงลดละความเพลิดเพลินพอใจในสิ่งเหล่านั้น เช่นเดียวกันกับความคิด การคิด การได้คิด จนถึงใจที่คิด ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้ นำมาซึ่งความทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนหรือเอาเป็นของตนได้ ควรละความพอใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน .เมื่อลดละลงแล้ว เราก็จะปลดโซ่ตรวจความเป็นทาสของความคิด เพราะไม่มีความพอใจเพลินใจให้ไปเกาะเกี่ยวกับความคิดต่างๆ เมื่อลดละสิ่งต่างๆ ในลิ้นชักไป ลิ้นชักย่อมว่างขึ้น สละคืนสิ่งต่างๆ ที่หมายมั่นไว้มากเท่าใด ชีวิตก็เข้าใกล้ความว่างอันเป็นสุขแท้จริงมากเท่านั้น.สังเกตตนดูว่าเรากำลังใช้ชีวิตด้วยการกอบเก็บอะไรมากมายไว้จนล้นลิ้นชักใจหรือไม่ ด้วยการซื้อหามา การแสวงหามา การยุ่งวุ่นวายเอาตัวไปใส่ใจ การไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งเทั้งหลาย ฯ พึงทำให้ลิ้นชักใจตนเองว่างลง สละคืนออกไปบ้าง ยิ่งใช้ชีวิตด้วยการลดการสั่งสม (ทั้งวัตถุรูปธรรม และสิ่งนามธรรม) ให้น้อยลงเท่าใด ก็มีสิ่งเร้าที่พาให้เราเป็นทาสความคิดน้อยลงเท่านั้น ชีวิตยิ่งเข้าถึงความว่างได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น
more https://thematter.co/thinkers/why-are-feelings-important/47223