• August 15, 2022

    น้ำมันปลาดี…แต่พ่วงหัวใจเต้นระริกมาด้วย

    หมอดื้อ

    ดังที่หมอได้เคยเล่าให้ฟังถึงความดีงามของน้ำมันปลาซึ่งตัวสำคัญคือ ที่เรียกว่าตัว EPA และตัว DHA โดยที่ทั้งสองตัวนี้ พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยป้องกันสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ได้ แต่เมื่อแสดงอาการแล้วจะไม่ได้ผลแม้ว่าจะใช้น้ำมันปลาตัวจิ๋วที่เรียกว่าพลาสมาโลเกน
    ซึ่งที่จริงแล้วก็คือน้ำมันปลาที่ผ่านตับและแปลงให้เป็นตัวจิ๋วอีกที โดยที่คนที่เป็นสมองเสื่อมไปแล้ว กระบวนการที่จะทำให้น้ำมันปลาผ่านการพัฒนาต่างๆจนกระทั่งถึงผ่านเข้าเส้นเลือดในสมองเข้าไปในสมอง และเข้าสู่เซลล์ต่างๆจะเป็นไปไม่ได้

    นอกจากนั้นน้ำมันปลาที่มีส่วนประกอบสองตัวนี้ เมื่อใช้ในขนาดสูงวันละ 3 ถึง 4 กรัม สามารถช่วยป้องกันเส้นเลือดหัวใจตัน รวมทั้งเส้นเลือดสมองได้ด้วย และรายงานต่อมาพบว่าช่วยทุเลา บรรเทาคนป่วยด้วยหัวใจวายในระดับต่างๆ

    ดังนั้นเองธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปลาหรือที่เรียกกันว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 จึงบูมระเบิด โดยที่ในปี 2019 ตลาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนมีมูลค่าถึง 4.1 ล้านล้าน (billion) เหรียญ และประมาณว่า ภายใน ปี 2025 ตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากหลักฐานดีงามที่ทยอยออกมาตามลำดับ

    แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประเมินความเสี่ยง ถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากขนาดที่ใช้จะสูงมากกว่าที่เคยใช้กันทั่วไปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมซึ่งจะมีปริมาณ ของ EPA DHA ต่ำกว่านี้มาก

    รายงานในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกา (JAMA) ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2021 ของการศึกษา VITAL Rhythm โดยได้วิเคราะห์ผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการบริโภคน้ำมันปลาในขนาดสูง กับการเกิดหัวใจเต้นผิดปกติที่คนไทยเราเรียกว่าหัวใจสั่นเต้นระริก (AF Atrial fibrilla- tion) และทำให้การบีบของหัวใจ หนักแน่นในแต่ละบีบไม่เท่ากันทำให้เลือดข้นตกค้างอยู่ในช่องหัวใจ และในที่สุดหลุดลอยออกจากหัวใจไปอุดตันเส้นเลือดต่างๆ

    โดยเฉพาะเส้นเลือดในสมองโดยเป็นเส้นเลือดใหญ่ และทำให้เนื้อสมองตายเกิดเป็นอัมพาตครึ่งซีก

    และถ้าเป็นสมองใหญ่ทางด้านซ้าย ก็จะทำให้มีการฟังเข้าใจภาษา และการพูดเสียไป และถ้าไปที่สมองส่วนอื่น เช่นสมองส่วนท้ายทอยหรือก้านสมองก็จะมีอาการตามระบบหน้าที่ของสมองส่วนนั้นๆ และยังสามารถหลุดไปอุดเส้นเลือดต่างๆได้ทั่วร่างกายทั้งแขนขาและเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงลำไส้ในท้อง

    สำหรับคนที่มีความผิดปกติการเต้นของหัวใจดังกล่าวก็ต้องได้รับยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดไปตลอด

    ตามบทบรรณาธิการของวารสาร ฉบับนี้ ได้สรุปไว้ว่าในช่วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ด้วยกัน 4 รายงาน ถึงความเสี่ยงของการเกิด AF ในการศึกษา STRENGTH trial มีผู้ร่วมการวิจัยทั้งหมด 13,078 คน ซึ่งเป็นคนที่สุ่มเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจ และแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้น้ำมันปลาขนาด 4 กรัมต่อวันหรือได้น้ำมันข้าวโพด หลังจากติดตามในระยะเวลาเฉลี่ย 42 เดือนพบว่ามีความเสี่ยงของการเกิด AF ในกลุ่มน้ำมันปลาเพิ่มขึ้น 2.2% vs 1.3% hazard ratio, 1.69 ; 95% CI, 1.29-2.21 ; P<.001.

    ในการศึกษา REDUCE–IT มีผู้ร่วมการศึกษา 8,179 ราย และได้ EPA หรือน้ำมันเกลือแร่และทำการติดตามไป 4.9 ปี พบว่ากลุ่มที่ได้น้ำมันปลามีความเสี่ยงสัมพัทธ์ในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง 25% แต่พบว่ามีความเสี่ยงในการเกิด AF เพิ่มขึ้น (5.3% vs 3.9%;P =.003)

    และในรายงานการศึกษาชุดที่สาม OMEMI มีผู้ร่วมการศึกษา 1,027 ราย สูงอายุทั้งสิ้น และเพิ่งจะมีเส้นเลือดหัวใจอุดตันไม่นานนักโดยได้รับน้ำมันปลาขนาดปานกลาง ทั้ง EPA และ DHA วันละ 1.8 กรัมหรือน้ำมันข้าวโพด หลังจากติดตามไปเป็นระยะเวลาสองปีไม่พบความแตกต่างในการลดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจ

    แต่พบว่า 7.2% ของกลุ่มน้ำมันปลาจะเกิด AF เมื่อเทียบกับ 4.0% ในกลุ่มน้ำมันข้าวโพด (hazard ratio,1.84 ; 95%CI, 0.98–3.45 ; P=.06)

    และในการศึกษาล่าสุด VITAL Rhythm ที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ มีผู้เข้าร่วมการศึกษา 12,542 ราย โดยได้รับน้ำมันปลาวันละ 840 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นส่วนผสมของ EPA และ DHA เทียบกับยาหลอก และทำการติดตามไป 5.3 ปี โดย
    ที่พบว่าเกิด AF ในกลุ่มน้ำมันปลา 7.2 ต่อ 1,000 คน-ปี (person-years) เทียบกับ 6.6 ต่อ 1,000 ในกลุ่มยาหลอก (hazard ratio, 1.09 ; 95%CI, 0.96-1.24 ; P=.19)

    เมื่อรวบรวมหลักฐานทั้งหมดทั้งสี่รายงานของโครงการศึกษา อาจชี้ได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนก็ตามว่า น่าจะมีเรื่องปริมาณหรือขนาดของน้ำมันปลาที่จะทำให้มีความเสี่ยงของการเกิด AF ได้ โดยที่ในขนาดสูง 4 กรัมต่อวันนั้นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเกือบจะเป็นสองเท่าและในขนาดปานกลางคือ 1.8 กรัมต่อวันนั้น มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะไม่ถึงกับมีนัยสำคัญทางสถิติก็ตาม (hazard ratio, 1.84)

    และด้วยขนาดปริมาณปกติคือ 840 มิลลิกรัมต่อวันนั้นไม่พบความเสี่ยงชัดเจน

    ดังนั้นการบริโภคน้ำมันปลาเพื่อป้องกัน บรรเทาหรือชะลอโรคต่างๆนั้นซึ่งต้องใช้ขนาดสูงทั้งสิ้น อาจจะต้องชั่งน้ำหนัก กับโอกาสที่จะมีความเสี่ยงของการเกิดหัวใจเต้นระริก AF ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วแม้ว่าจะหยุดน้ำมันปลาไป ก็ไม่ได้ทำให้หายไปและจะต้องมีการใช้ยาป้องกันลิ่มเลือดชนิดพิเศษ ที่ไม่ใช่ยาต้านเกล็ดเลือดแอสไพรินหรือยาในกลุ่มเดียวกัน แต่ต้องใช้กลุ่มเฉพาะขึ้นมาเช่น วาร์ฟาริน (warfarin)

    โดยที่ต้องมีการเจาะเลือดเพื่อปรับขนาดยาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่มากไปก็จะเกิดเลือดออกง่าย หรือน้อยไปก็ไม่ได้ผลแม้ว่าจะใช้ยาในกลุ่มที่ใช้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเจาะเลือด (NOAC) แต่ราคาค่อนข้างสูงมาก และถ้าเกิดออกฤทธิ์มากเกินไปก็จำเป็นต้องใช้ยาถอนฤทธิ์ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและยาทั้งหมดนี้ถ้าเกิดต้องผ่าตัดก็มีความจำเป็นที่ต้องหยุดยาก่อน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดและขณะที่ใช้ยาเนื่องจากเลือดจะออกง่ายกว่าธรรมดาถ้าเกิดอุบัติเหตุจะรุนแรงขึ้นเลือดไหลหยุดช้าและการผ่าตัดฉุกเฉินจะต้องมีการเตรียมขั้นตอนต่างๆเพิ่มขึ้น

    นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ยาที่จำเป็นต้องทราบประโยชน์รวมทั้งผลข้างเคียงและโทษที่อาจจะเกิดขึ้นรวมทั้งต้องทราบขนาดที่ใช้ด้วย

    ด้วยความห่วงใยต่อสุขภาพของทุกคนครับ.



เวอไนน์ไอคอร์ส

ประหยัดเวลากว่า 100 เท่า!






เวอไนน์เว็บไซต์⚡️
สร้างเว็บไซต์ ดูแลเว็บไซต์

Categories


Uncategorized