• September 4, 2017

    ตัวเองเปิดเอเจนซี่เล็กๆกับเพื่อนได้ประมาณ 5 ปี
    ทำพวกฟรีแลนซ์ทั่วไป product design, 3d, web devolper อะไรเทือกนี้หล่ะคะ
    ตอนทำงานจำพวกเว็บ ก็จะใช้ tool เหล่านี้แหล่ะค่ะ นำมาใช้ประกอบงานตลอด (สมัยนั้นตั้ง getty เป็นหน้า home เลย)
    สาเหตุที่ใช้ getty เนี่ย ก็เพราะว่า มันมีภาพขนาดเล็กแบบไม่ embeded watermark ให้ save ได้ (แต่ถ้าเป็นขนาดใหญ่ ต้องเสียตังค์)
    และถ้าเราออกแบบเว็บ มันไม่จำเป็นต้องใช้ความละเอียดเยอะไงคะ ขอแค่ 72dpi ก็เนียนมากแล้ว (แล้วภาพเล็กเหล่านั้น ส่วนใหญ่ค่าอยู่ที่ 96dpi..เอา shop ขยายได้อีก) ก็หยิบกันมาใช้ตามใจชอบเลย
    อยู่มาวันนึง (วันออฟฟิศแตกค่ะ จำได้ดี) ก็ได้รับโทร.จากลูกค้าค่ะ โทรมาต่อว่าเราขนานหนัก บอกว่าเราทำเค้าเสียชื่อเสียงมาก เอา brand เค้าไปละเมิดลิขสิทธิ์เหรอ….
    ดิชั้นกับเพื่อนๆ…..งงมากกกกกค่ะ……. “อะไรขอเค้าวะ” แล้วเค้าก็เลยส่งแฟ็กซ์มาให้เราดูค่ะ……. พร้อมกับบอกเราว่า ได้ปัดเรื่องโยนมาให้ฝ่ายเราแล้ว…….(อ้าว…เล่นงี้เลยแฮะ….)
    ในแฟ็กซ์ฉบับนั้น ทาง getty ระบุว่า “บริษัทคุณได้ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพจำนวน 12 ภาพ คิดเป็นความเสียหาย 42,000 บาท (1,000 ยูโร)”
    ….
    …..
    กรี้ดแตกสิคะ……
    ….
    ไม่แค่นั้นค่ะ….วันถัดมา ก็ได้รับแฟ็กซ์อย่างเป็นทางการ (เป็นเกียรติมากกก)
    บอกว่าเราละเมิดลิขสิทธิ์ของเค้า ทั้งสิ้น 136 ภาพ คิดเป็นเงิน 2,550,000 บาท (ประมาณ 60,000 ยูโร ตอนนั้น)
    ……………
    …….


    วินาทีนั้น เจ็กตื่นกันทั้งออฟฟิศอ่ะคะ งานอะไรค้างอยู่ทิ้งมันหมด เดดลง เดดไลน์ไม่ยักกะอยู่ในเซเลบรัมสักกะติ้ดเดียว
    ทำไงดีๆๆๆๆ …. สองล้านห้า…..สองล้านห้า…..สองล้านห้า…….
    เอาล่ะ รวบรวมสติ …อาศัยลุงกุ็ก ขอข้อมูลแกหน่อย….
    …………….
    …..
    ..
    .
    ไม่มีแฮะ…….ไม่เห็นจะมีใครเลย ที่โดนเหมือนเรา…..หรือใช้คำผิด…..
    เอาใหม่ๆ….ค้นๆๆๆๆ ….. โหมีแต่คนยอมจ่ายทั้งนั้นเลย……
    โทรไปปรึกษาคุณอาที่เป็นทนาย แกก็บอกว่าให้นิ่งไว้ก่อน เพราะ พรบ.ละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยมันยังไม่แข็ง ขั้นแรกให้ไปลบรูปออกก่อน
    วันนั้น……หุ้นส่วนทั้ง 3 คนของบริษัท เครียดจนแทบบ้า
    คุยคุยคุย ขบขบขบ หาทางออกยังไงก็ไม่ทางสว่างแม้แต่นิดดดดด….
    ก็ได้แต่ทำตามคำแนะนำของคุณอาอ่ะคะ…..
    อยู่จนกันจึง ตี 2
    เริ่มปลงกันแล้วค่ะ ยกธงแล้วค่ะ 3 ปีที่สร้างกันมา จบเพราะเรื่องบ้าๆอย่างนี้เหรอเนี่ย………?
    แต่ดิชั้นกับเพื่อนจะต่างกับจขกท.นิด ตรงที่ว่า……….จิตสำนึกต่ำมากอ่ะคะ…….คือว่า ให้ตายยังไง จะเล็กน้อยถึงแค่ระดับหมื่นสองหมื่น หรือ อย่าว่าแค่ระดับ 5 พันบาทเลย…..ดิชั้นกับเพื่อนๆก็ไม่มีปัญญาจะจ่าย และ ถ้าไม่ถึงขั้นต้องไปนอนในตะราง ก็จะไม่ยอมจ่ายเด็ดขาดค่ะ
    ก็เลยตัดสินใจร่วมกัน…….
    ……….
    …..
    ..
    ………ปล่อยเลยตามเลยค่ะ……จะเป็นยังไงช่างมัน
    …………………..
    วันถัดมาก็พากันไปแบงค์ ไปถอนเงินในบัญชีส่วนตัวออกมาทั้งหมด แล้วย้ายโอนไปให้คนอื่นถือ (พี่น้องพี่อแม่) แล้วเราถือบัตรเอทีเอ็มไว้
    จากนั้น ก็ค่อยๆเริ่มเปิด port ดูทีละเว็บ ว่ามีรูปไหนเอาของเค้ามาบ้าง พอเจอก็ลบออกแล้วเปลี่ยนรูปที่หาได้จาก Flickr (ที่เป็น CC – ครีเอทีฟคอมมอน) ขึ้นแทน
    ผ่านมาไป 2 วัน
    แฟ็กซ์ฉบับเดิมก็มาอีก พร้อมกับให้รีบเจรจา เพื่อจะได้ไม่ต้องถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล…..
    …….

    ..
    แหะแหะ……บอกจากใจจริงนะคะ….ณ ตอนนั้น คือ เราหมดแรงแล้วค่ะ เราปล่อยไปแล้ว
    เลยไม่ได้สนใจอะไรอีกเลย……
    ผ่านไปเดือนนึง ด้วยการมาทำงานแบบซังกะตายไปวันๆ….
    ยมทูตจะมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้…….โคตรๆๆๆๆๆๆจะเซ็ง…..เบื่อมาก….ไม่มีกะใจทำไรเลย……
    และแล้ว….
    ก็ผ่านไปอีกเดือน……
    อีกเดือน………..
    อีกเดือน……….
    อีกเดือน……
    …….

    ..
    ..
    ..
    ..
    ณ ขณะที่นั่งเขียนอยู่นี้ คือ วันที่เหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว 2 ปีนิดๆค่ะ
    ……….แต่ก็ยังอดเสียวสันหลังไม่ได้นะคะ ไม่ใช่ว่าจะโล่งใจไปซะหมด…..
    คือเรื่องของเรื่องที่อยากจะแชร์เนี่ยก็คือว่า …..
    ข้อ 1. สำหรับเพื่อนๆที่โดนแบบนี้ ขอให้เก็บไว้เป็นบทเรียนเถอะค่ะ อย่าได้เอาของเค้ามาใช้ เปลี่ยนจาก getty เป็น flickr ดีกว่า เพราะมันเป็น CC สามารถเอามาใช้ได้
    ข้อ 2. ยังไงซะ…ห้ามจ่าย ห้ามเจรจา ค่ะ เพราะว่า……
    – หลังจากผ่านไป 2 ปี ดิชั้นเลยได้ศึกษามาว่า เค้าฟ้องกันทั้งโลกอ่ะค่ะ โดยมีสนง.ใหญ่อยู่ที่อเมริกา แล้วแตกสนง.ย่อยอยู่ตาม region ต่างๆ อย่างเอเซีย คือ ญี่ปุ่น จีน และ อินเดีย
    Getty Image Thailand ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า มีตัวตนอยู่ที่เมืองไทยจริงหรือเปล่า? เหนว่ามี fanpage ใน FB เป็นภาษาไทย ก็ไม่ค่อยแน่ใจนะคะ แต่รู้ว่าย่อยมากๆๆอ่ะคะ
    -หากเพื่อนๆยังกลัว ลองเข้าไปเว็บ http://www.extortionletterinfo.com/forum/list.php?2 ดูนะคะ เป็นกรณีศึกษาสำหรับ ผู้ที่เคยโดนจดหมายจาก getty ….พออ่านเข้ามากๆเพื่อนจะรู้เลยค่ะว่า
    ถ้าบริษัทเราไม่ได้อยู่ ใน USA มันเป็นไปได้ยากมากกกกกกกกกกกกกกกกกๆๆๆๆๆๆ ที่เค้าจะฟ้อง หรือ จะดำเนินการขึ้นโรงขึ้นศาลข้ามประเทศมาอ่ะค่ะ
    – ถ้าหากมีจดหมายมาเมือไหร่ กรุณารีบไปลบรูปออกค่ะ แต่ขอย้ำนะคะ ว่า ห้ามเจรจา เด็ดขาด การเจรจา มันเปรียบเสมือน การบ่งบอกว่ามีตัวตน และ กำลังกลัวอยู่ ค่ะ มันทำให้ bargaining power เราหายไปวับในพริบตาเลยนะคะ
    – พอได้อ่านของ จขกท. ยิ่งมั่นใจใหญ่เลยค่ะ ว่าทาง getty ไม่มีวันที่จะขึ้นโรงขึ้นศาลกับบริษัทไทยแน่นอน เพราะว่ามีการต่อรองได้ มีการอะลุ้มอะหล่วยยอมตัดทอนกันได้ ทาง getty จะ benefit สูงสุดจากคนกลุ่มนี้ล่ะค่ะ ที่ตื่นไปเจรจา
    – ถ้าหากเพื่อนๆยังกลัว เมล์มาก็ได้นะคะ ปรีกษาให้ฟรีในฐานะคนเคยโดนค่ะ girlyberrycutie@hotmail.com ดิฉันมีคุณอาเป็นทนายค่อนข้างปึ้ก อย่ากลัวไปเลยค่ะ มันไม่มีอะไรหรอกค่ะ เหมือนโดนตำรวจไถตังอ่ะค่ะ ถ้าเพื่อนๆเป็นคนนึงที่จ่ายเป็นประจำก็คงกลัวเป็นธรรมดา แต่หากว่าเพื่อนๆเคยลองยืนคุยยื้อกับตำรวจไปนานๆเข้า เค้าก็ปล่อยเราอ่ะคะ (หาจากอีนี่คงยาก….อิอิ ไปเอาหมูตัวอื่นดีก่า)
    ข้อ 3. เกลียด getty มากๆค่ะ ทุกวันนี้เกลียดแบบเข้ากระดูกดำ ก็เข้าใจอ่ะนะ ว่าเราไปเอาของเค้ามา เราผิดเต็มประตู……แต่พอดีไม่แคร์สื่ออ่ะคะ….เกลียดมันมากค่ะ เกลียดดดค้ออดดดดด…….ถ้ามันเจ็งด้วยสาเหตุใดได้ จะดีใจมากๆค่ะ
    ข้อ 4. รัก flickr ค่ะ อยากให้เพื่อนๆหันมาใช้ http://compfight.com/search ดู ติ้กเลือกตรงที่เป็น Creative Commons นะคะ (อย่าทะลึ่งกด commercials นะคะ)
    แค่นี้หล่ค่ะ….

    ==
    ได้จดหมายจากทางอีเมลครับ บอกว่าผมได้ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย
    ของทาง Getty Images จำนวน 1 รูป เค้าคิดค่าเสียหายผมเป็นเงิน
    37,878 บาท ครับ

    ตกใจครับ ผมเองก็ไม่เคยเจออะไรแบบนี้เหมือนกัน แต่ก็ตอบอีเมลเค้า
    กลับไป แล้วบอกเค้าว่าทางเราได้เอารูปออกแล้ว หลังจากนั้นก็มีอีเมล
    ตอบกลับมาว่า ขอบคุณที่เอารูปออกแล้ว แต่ว่าคุณได้ละเมิดลิขสิทธิ์
    ภาพถ่ายของเรา และเรายังคงต้องปรับค่าเสียหายจากคุณอยู่

    เอาละครับ รู้ว่างานเข้าแล้ว ผมเลยหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจะหาทางต่อรอง
    เพราะส่วนตัวแล้วคิดว่าละเมิดของเขาไปแล้วก็จะจ่ายหละ แต่ว่าจะจ่าย
    ให้ถูกที่สุดครับ

    หาข้อมูลไปเรื่อยก็เจอ http://www.blog72.net/being72/blog72-14-gettyimages/
    รายนี้เค้ายอมจ่ายเงินค่าเสียหายครับ แต่ก็ต่อราคากันแบบสุดฤทธิ์จากเงิน
    สี่แสนเหลือแค่หกหมื่น สุดท้ายก็จ่ายให้ทาง Getty images ไป

    ทีนี้เนื่องจากผมเห็นว่าคนที่ต่อรองก็มี ผมก็น่าจะต่อรองได้ ผมก็เลยอีเมล
    ตอบจดหมายฉบับล่าสุดที่เค้าเขียนมาหาผมว่า “ราคาที่คุณเสนอมามันแพงไป
    ผมไม่สามารถจ่ายได้ ลดอีกได้ไหม ?” แล้วก็ถามต่ออีกว่า “แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณไม่ใช่
    scam” –> scam คือ พวกมิจฉาชีพที่หลอกเงินคนทางอินเตอร์เนตครับ

    หลังจากที่ผมส่งจดหมายฉบับล่าสุดไป เค้าก็หายไปเลยครับ… ซึ่งผมก็ไม่ทราบ
    สาเหตุเหมือนกันว่าเพราะอะไร ?

    แต่พอได้อ่านตามกระทู้ที่ผมได้ให้ลิ้งค์ไว้ด้านบน ทำให้ผมรู้ว่า

    1. คนที่โดนก่อนหน้าเรามีเยอะครับ และจำนวนเงินที่ต้องเสียค่าปรับ บางคนเป็นหลักล้าน
    2. คนที่โดนเป็นหลักล้านเนี่ย เค้าไม่หนี ไม่มี ไม่จ่ายครับ คือ นิ่งๆไว้ ไม่ว่าจะมีจดหมายมาขู่กี่ครั้งก็ตาม
    3. สุดท้ายผ่านมาแล้ว 2 ปี ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นอยู่ดีครับ ทาง Getty images ก็หายไปเลย (ไม่รู้เลิกตามหรือเปล่า ?)
    4. ผมลองปรึกษาอาที่เป็นทนายดูแล้วครับ อาบอกว่า มันเป็นไปได้ยากที่เค้าจะยอมเสียเงิน เสียเวลา มาฟ้องเรา
    ด้วยเงินจำนวนไม่กี่หมื่นบาทครับ เพราะฉะนั้น ให้นิ่งไว้ก่อนเป็นดีสุด

    ไม่ต้องติดต่อกลับอะไรทั้งสิ้นครับ นิ่งๆไว้ เหมือนว่าเราไม่ได้รับข้อมูลอะไรจาก Getty images

    ประเด็น คือ ทางบริษัทได้ตอบจดหมายหรือตอบสนองกับ Getty images ไปหรือแล้วหรือยังครับ ?
    ถ้ายัง ผมแนะนำให้นิ่งๆไว้ก่อนครับ เพราะเคยที่หนักกว่าเรา ก็ยังอยู่ดีมีสุข ไม่เสียค่าปรับอะไรเลย

    ==
    รูปที่ใช้ขายมันควรจะใส่ลายน้ำไว้นะ แบบของ Artistvalley ก็ใส่ลายน้ำไว้และบอกเจตนาชัดเจนว่าเค้าขายรูป
    แต่วิธีการหาเงินของ GettyImage มันมิจฉาชีพชัดๆ เจตนาให้คนเอาไปใช้แล้วฟ้องกลับตลบหลัง

    ==
    ยอมรับผิดครับ เพราะเราไปของเขามา แต่อยู่เฉยๆ  ไม่ต้องทำไร

    ==
    เป็นผมคงปล่อยเงียบๆ จนกว่าจะโดนหมายจับครับ..หมายศาลมาก็ไม่ไป ถ้าต้องจ่ายจริง จะยอมติดคุกแทนค่าปรับ เพื่อไม่ให้มันได้ตังค์
    ==
    บางทีเห็นภาพไม่มีลายน้ำ นำมาใช้ก็อาจจะซวยได้ถ้าไม่เช็คดีๆ เพราะบางภาพใส่ Exif ไว้เช่น หากตรวจแล้วพบข้อความนี้ก็ห่างๆไว้

    ==
    หนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกแบบเว็บไซต์นั่นคือรูปภาพ การคัดเลือกรูปภาพที่นำมาใช้ประกอบการออกแบบนั้นมีผลกับงานเป็นอย่างยิ่ง อยากบอกว่าขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุดในการขึ้นแบบคือ การหารูปที่เหมาะสม
    งานออกแบบบางงานดูแสนจะธรรมดา แต่เมื่อได้รูปภาพประกอบที่สวยงามมากๆเข้าไปวางแล้ว ก็ทำให้ภาพรวมของงานออกแบบนั้นดูดีขึ้นมาทันที ในทางตรงกันข้าม งานออกแบบหลายงานที่สร้างมาอย่างดี มีรายละเอียดมากมาย แต่ไม่ใส่ใจในการเลือกรูปภาพ ก็ทำให้งานนั้นดูด้อยลงไปทันตาเห็น ในกรณีการเลือกรูปภาพเช่นนี้ ผมขอแบ่งความหมายของ “รูปภาพที่ดี” ออกเป็นสองอย่างคือ
    หนึ่ง รูปภาพที่มีความหมายดี ตรงกับงานที่ออกแบบ
    สองรูปภาพที่สวยงาม หมายถึงมีการจัดแสงเงาที่ดี ภาพละเอียดคมชัด
    รูปที่มีความหมายดี เข้ากับงาน ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราทำเว็บเกี่ยวกับการประกาศรับสมัครงาน ถ้าคิดแบบง่ายๆ ก็อาจจะเป็นภาพ คนจับมือกัน หรือ ภาพเอกสารสมัครงาน ซึ่งนั่นก็เป็นอะไรที่น่าเบื่อมากๆ ใครๆ ก็ใช้รูปแบบนี้กันทั้งนั้น แต่หากเราใช้รูปอื่นๆเช่น รูปเก้าอี้ทำงานที่ยังว่างเปล่า เปรียบเสมือนว่าตำแหน่งงานตรงนี้ยังว่าง ก็จะทำให้ภาพของเรา นอกจากจะได้ความหมายที่ถูกต้องแล้ว ยังดูแตกต่างจากงานของคนอื่นๆด้วย
    เมื่อเรานึกได้แล้วว่าอยากจะได้รูปอะไร ขั้นตอนต่อไปคือ แหล่งที่มาของรูป หลายคนค้นหาด้วยการ search จาก Google  ซึ่งสำหรับผมแล้วมันเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร Google มีรูปมากมาย แต่จะหารูปสวยๆนั้นช่างยากเหลือเกิน นี่ยังไม่คิดถึงเรื่องของลิขสิทธิ์ หากเรานำรูปมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และเรื่องของขนาดที่บางครั้งเราพบรูปที่ต้องการแล้ว แต่ไม่มีขนาดใหญ่เพียงพอ
    ผมหารูปจาก Google บ้างบางครั้ง แต่การหารูปจาก Google นั้นเสียเวลามาก อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า การค้นหารูปที่ดีที่สุดนั้น เป็นหนึ่งในขั้นตอนการออกแบบที่ใช้เวลามากที่สุด ดังนั้น หากเราสามารถลดขั้นตอนตรงนี้ได้มากเท่าไร่ ก็จะทำให้งานออกแบบของเราเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น การขอแรงจากคนอื่นให้มาช่วยหารูปก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยย่นระยะเวลา เพียงอธิบายลักษณะของรูปที่เราต้องการ แล้วให้เค้าช่วยหาให้ ไม่ว่าจากแหล่งไหนก็ตาม แม้ว่ารูปที่ได้จะไม่ถูกใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยเราก็ได้คนมาช่วยเรากรองรูปแล้วในระดับหนึ่ง
    เกริ่นมาซะนาน ขอมาเข้าถึงแหล่งที่มาของรูปภาพอีกแหล่งหนึ่งที่อุตส่าห์ขึ้นไว้เป็นหัวข้อของบทนี้ แหล่งที่มาของรูปภาพที่ว่าคือ คลังรูปภาพทางอินเตอร์เน็ทที่มีให้บริการในลักษณะของการ เช่า หรือ ซื้อขาด นั้นมีอยู่หลายเจ้าด้วยกัน เช่น iStockPhoto, Corbis  และแน่นอน Getty Images
    Getty Images ถือว่าเป็นผู้ให้บริการด้านภาพถ่ายทางอินเตอร์เน็ทอันดับต้นๆ ของโลก ภาพที่อยู่ในคลังของ Getty Images จะมีคุณภาพสูง และมีความสวยงามมาก โดยผ่านการคัดเลือกมาเป็นอย่างดี
    บริษัทให้บริการขายรูปเหล่านี้ทำตัวเป็นเอเจนซี่รับซื้อรูปจากช่างภาพทั่วทุกแห่งบนโลก โดยให้ช่างภาพที่สนใจ ส่งรูปที่ตนถ่ายมาให้ดู จากนั้นหากฝีมือผ่านเกณฑ์ก็สามารถนำรูปเข้ามาขายได้ ซึ่ง Getty Images ก็ใช้ระบบเดียวกัน ผมไม่แน่ใจว่าเค้าเป็นผู้เริ่มต้นรึเปล่าด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม Getty Images นั้นมีวิธีการคัดเลือกช่างภาพที่แตกต่าง และเรื่องมากอยู่พอสมควร เพราะนอกจากผลงานที่ต้องเข้าตาแล้วนั้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายรูปก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ด้วย เพราะความละเอียดในการคัดเลือกรูป ทำให้รูปในคลังของ Getty Images นั้นอยู่ในระดับสูงสุด เรียกได้ว่า หากวันไหนคิดงานไม่ออก หรือทำแบบออกมาไม่สวย ลองเรารูปจาก Getty Images ไปแปะ เท่านี้งานก็ดีขึ้นทันตาเห็น
    ในช่วง 3-4 ปีแรกของการทำ rgb72 ผมไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์รูปภาพเท่าไรนัก ไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านี้ทำงานกันอย่างไร ไม่รู้ว่ามีระบบการซื้อขาดที่เรียกว่า Royalty Free ที่หลายคนคิดว่าเป็นรูปที่ให้ฟรี และระบบการเช่ารูปที่เรียกว่า Rights Managed ประกอบกับความมักง่ายที่คิดว่า เราอยู่ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศโลกที่สาม ไม่น่าจะมีใครให้ความสนใจ ดังนั้นหากผมจะแอบขโมยรูปจาก Getty Images เพื่อใช้ในงานซักนิดหน่อย คงไม่เป็นไร
    ผมคิดผิด….
    เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เปิดบริษัทมา ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีในช่วง 3-4 ปีแรกที่ผมขโมยรูปจาก Getty Images มาใช้ แต่มันมาเกิดขึ้นในปีที่ 6 เมื่อวันหนึ่งผมได้รับแฟกซ์จาก Getty Images
    เนื้อความในเอกสารที่แฟกซ์มานั้นแจ้งว่า ผมได้ทำการขโมยรูปจากทาง Getty Images จำนวน 5 รูป บางรูปเป็นรูปที่อยู่ในระบบเช่า บางรูปเป็นระบบซื้อขาด และทาง Getty Images ได้คำนวณค่าใช้จ่าย สำหรับรูปซื้อขาด และค่าใช้จ่าย ย้อนหลัง สำหรับรูปเช่าซื้อมาให้แล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นจำนวนเงินประมาณ 6แสนบาท
    “หกแสนบาท !!!!!! “
    ผมตะโกนในใจกับตัวเอง ขณะนั้นในหัวคิดว่า เกิดอะไรขึ้น!!?? รูปภาพอะไรกัน!!?? รูปภาพไหนที่โดนฟ้อง!!?? หากเราเอาออกตอนนี้จะทันไหม!!?? แล้วถ้าเราโดนปรับจริงๆ จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย แล้วถ้าไม่มีจ่ายล่ะ?? ต้องยืมไหม หรือว่าบริษัทจะต้องโดนปิด!!!??? ยอมรับว่างงมากๆ และเครียดเป็นที่สุด ใจหนึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าเราขโมยรูปเค้ามาใช้บ่อยครั้ง ดังนั้นการที่เค้าจับได้คงไม่ได้มั่วมาแน่ๆ
    เอาล่ะ มาดูเอกสารกันดีดี เนื้อความมีแจ้งไว้ว่า รูปที่ผมขโมยไปนั้น ผมนำไปใช้กับงานของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งขนาดของรูปนั้น ต้องบอกว่า เล็กมากๆ ไม่น่าเชื่อว่ายังจะจับผมอีก ขนาดของรูปนั้นกว้างและสูงประมาณ 200×200 pixels หากใครไม่ทราบว่า 200 pixels นั้นขนาดไหนผมเปรียบเทียบง่ายๆเอาว่าใหญ่กว่าปุ่มหนึ่งปุ่มบนแป้นคีย์บอร์ดนิดหน่อย
    โอ้โห ใครจะตาดีปานนั้น ผมคิด เค้าจับได้อย่างไร มีอะไรที่เป็นตัวติดตามรึเปล่า ว่าผมขโมยรูปไป เท่าที่เราเข้าใจ ก็ไม่น่าจะสามารถติดตามได้นี่นา นอกจากจะตาดีแล้ว ทาง Getty Images ยังรู้อีกว่า ผมขโมยรูปนี้มาใช้แล้วประมาณ 3ปี
    เหตุการณ์เลวร้ายยังไม่จบแค่นั้น ทาง Getty Images ได้เคยส่งแฟกซ์เอกสารชิ้นนี้ไปถึงบริษัทลูกค้าผมแล้ว ทางลูกค้าผมจึงตกใจมาก และแน่นอน รีบแจ้งกับทาง Getty Images อย่างไม่รอช้าว่า rgb72 เป็นคนพัฒนาเว็บตัวนี้
    เข้าใจล่ะครับ ว่านี่เป็นความผิดของผมโดยตรง เรื่องของการฝ่าฝืนของที่มีลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือตัวอักษร ในสัญญาก็มีกำหนดอยู่แล้วครับว่า rgb72 จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด แต่นี่มันเงินตั้งหกแสน สำหรับผมแล้ว มันไม่น้อยเลย
    หลังจากที่ตั้งหลักได้แล้ว ผมกลับมารวบรวมข้อมูลแล้วดูเอาว่า ผมจะแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างไร
    ช่วงที่อยู่อเมริกา ผมได้ซื้อแผ่น CD รวมรูปภาพลิขสิทธิ์ที่สามารถนำมาใช้ได้จากบริษัทชื่อ Photodisc ซึ่งภายหลังถูกควบรวมอยู่ในกลุ่มของ Getty Images และรูปที่ผมนำมาใช้ ก็มีบางส่วนมาจาก Photodisc นี่แหละ
    มีถึงสองรูป!! ผมดีใจมากๆ
    ไม่นานนักผมตัดสินใจโทรศัพท์ไปคุยกับทาง Getty Images ซึ่งในเอกสารแจ้งว่ามีสำนักงานอยู่ที่ตึก All Seasons และเซอร์ไพร์สก็ยังไม่หมด เมื่อคนที่ผมได้ยินเสียงปลายสายเป็นคนไทย และเธอแจ้งว่า เธออยู่ในสิงคโปร์ ผมเพิ่งจะถึงบางอ้อว่า Getty Images ในช่วงนั้นไม่ได้มีสำนักงานอยู่เมืองไทย แต่ไม่เป็นไร นั่นไม่ใช่ประเด็นที่ผมต้องการจะคุยด้วยในวันนี้ ผมโทรไปเพื่อจะคุยว่า รูปจากทั้งหมดห้ารูปน่ะ ผมซื้อมาอย่างถูกต้องถึงสองรูปเชียวนะ!
    เจ้าหน้าที่แจ้งผมว่า “โอเคค่ะ สองรูปนั้นเช็คแล้วว่าถูกต้องจริง ซึ่งหากลบจากห้ารูปข้างต้นแล้ว เงินที่ยังค้างชำระนั้นจะอยู่ที่ สี่แสนบาทโดยประมาณ”
    ให้ตายเถอะ ลบไปสองจากห้า มันไม่ช่วยไปหายไปได้เกือบครึ่งหรอ โชคมันไม่เป็นใจเอาซะเลย ก็ไอ้รูปที่เหลืออีกสามนั่นเป็นรูปที่อยู่ในระบบการ เช่า และผมก็ใช้มาแล้วถึงสามปี
    ผมไม่มีมุขอื่น และนึกอะไรไม่ออกเลย ไม้ตายเดียวที่ผมมีก็คือ  ขอร้อง
    นาทีนี้ผมไม่อายอะไรเลยครับ ผมขอร้องเจ้าหน้าที่ของ Getty Images ว่า ผมเป็นบริษัทเล็กมากๆ ทำเว็บก็ไม่ได้จะได้เงินอะไรมากมาย ทำงานกันอยู่ไม่กี่คน และถ้าผมต้องจ่ายเงินจำนวนสี่แสนจริงๆล่ะก็ ผมว่าผมปิดบริษัทไปเลยซะดีกว่า
    ผมบอกเธอต่อว่า หากผมปิดบริษัท ก็จะมีแต่เสียกับเสีย บริษัทผมก็เจ๊ง ส่วนคุณก็ไม่ได้เงินเลยซักนิดเดียว ผมจึงขอร้องอยากให้เธอช่วยลดค่าปรับในการใช้รูปละเมิดลิขสิทธิ์ของผมหน่อย
    เธอเห็นใจแล้วบอกผมว่า เธอสามารถลดให้ได้สุดๆเลย คือครึ่งหนึ่ง และนั่นทำให้ราคาลงมาได้ถึง สองแสนบาท
    ว้าวววววว…!!! ฟังดูเยอะนะ ซึ่งมันก็เยอะจริงๆแหละ แต่ว่า.. มันยังเหลืออีกตั้งสองแสน แล้วผมจะไปหาที่ไหนอีกล่ะ สองแสนก็ยังไม่น้อยสำหรับผมเช่นกัน
    ในช่วงนั้นผมโทรหาเจ้าหน้าที่คนนั้นอยู่ไม่ต่ำกว่าห้าครั้งในหนึ่งอาทิตย์ แน่ล่ะ ผมไม่ได้เป็นคนจ่ายค่าโทรศัพท์ แต่ถึงแม้ว่าผมต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ ผมก็คิดว่าหากมันทำให้ค่าใช้จ่ายตรงนี้ลดไปอีก การคุยข้ามประเทศซักไม่กี่พัน ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร
    ผมคุยกับเธอหลายครั้ง และทุกครั้งก็เป็นการอ้อนวอนชนิดที่ว่าไม่กลัวอาย ผมเคยคุยกับเธอถึงขนาดที่ว่า ผมสามารถบินไปหาเธอตอนนี้เพื่อเลี้ยงข้าวเธอหรือทำอะไรให้ก็ได้เพื่อให้ผมไม่ต้องเสียเงินมากขนาดนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วเธอก็ไม่ได้มีแววจะเห็นด้วยเลยซักนิด
    สุดท้ายผมไม่แน่ใจว่า เธอสงสารหรือรำคาญกันแน่ แต่เธอลดราคาลงมาให้ผมเรื่อยๆ เธอบอกว่าเธอต้องไปคุยกับผู้จัดการหรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่าเพื่อขอให้ลดราคาลงให้ได้มากกว่านี้ ซึ่งราคาก็ค่อยๆ ไต่ระดับลงมาเรื่อยๆ จากสองแสนบาท เป็นหนึ่งแสน เรื่อยลงมาจนถึงตัวเลขสุดท้าย หกหมื่นบาท
    ผมถอนหายใจเฮือกใหญ่ เธอแจ้งว่า หกหมื่นนี่ลดได้สุดๆแล้ว ซึ่งผมก็เข้าใจ ก็เลขศูนย์มันหายไปตั้งตัวหนึ่ง จากราคาเริ่มต้น ผมขอบคุณเธอเป็นยกใหญ่ ในใจก็แอบดีใจว่า นี่เป็นการต่อรองราคาที่ผมทำได้มากที่สุดในชีวิตเลยนะเน๊ยะ
    ผมขอร้องเธอครั้งสุดท้ายว่าเงินก้อนนี้ขอผ่อนเป็นรายเดือน แต่รับประกันว่าจะไม่ขาดซักบาทเดียว ซึ่งเธอก็ยินดี
    ก่อนจะวางสายครั้งสุดท้าย ผมไม่ลืมที่จะถามเธอว่า “ไม่ทราบว่าทาง Getty Images ทราบได้อย่างไรว่าผมขโมยรูปมาใช้ เค้ามีระบบการติดตามรูปได้ด้วยหรอ หรือว่าเค้ามีการค้นหาได้อย่างไร?” เธอตอบผมว่า Getty Images มีพนักงานที่วันๆไม่ทำอะไร เอาแต่นั่งค้นหารูปที่ผิดลิขสิทธิ์ หากันเป็นทีม และหากันทั้งวันทั้งคืน ดังนั้นการที่เค้าจะลดราคาให้ผมมากๆนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากค่าลิขสิทธิ์ที่เค้าจะต้องจ่ายคืนให้กับเจ้าของภาพแล้วนั้น เค้ายังมีค่าใช้จ่ายสำหรับคนหารูปตรงนี้ด้วย
    ผมคิดว่า เรื่องราวของ Getty Images ทำให้ผมเข้าใจในระบบการซื้อขายรูปมากยิ่งขึ้นและแน่นอนระบบลิขสิทธิ์ที่ไม่อยากจะมองข้ามอีกเลย บางคนอาจจะมองว่าทำไมผมต้องไปขอร้องเค้า ทำไมต้องตอบรับกับเอกสารของ Getty Images ผมขอบอกว่า ทุกครั้งที่มีการฟ้องร้องแบบนี้ ผมไม่คิดจะหนี ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หากมันเป็นเรื่องที่เห็นควรแล้วว่าเป็นความผิดของเราจริง เราก็ต้องรับผิดชอบ แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวอย่างศูนย์ออกกำลังกายฟิตเนสที่หลายคนแจ้งว่าโดนหลอก ผมก็ยอมจ่าย ส่วนหนึ่งก็คิดถึงคำที่เพื่อนผมพูดไว้ว่า อย่าติดหนี้ใครเพราะเราอาจจะต้องตามไปใช้เค้าอีกในชาติหน้า ดังนั้นเอาเป็นว่า ถ้าเราสามารถเคลียอะไรได้ก็เคลียไปเลยในชาตินี้ ในกรณีของ Getty Images นี้ก็เช่นกัน ผมไม่สามารถใช้หนี้เค้าได้ แต่ผมผิดจริง ดังนั้นสิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุดคือ ให้เค้ายินยอมในตัวเลขที่ผมรับได้ แม้จะให้ผมต้องยอมขอร้องเค้าแทบตายก็เถอะ
    อ่านแล้วเหมือนจะเป็นคนดี แต่แค่อยากให้คนที่ได้อ่านตรงนี้ คิดเหมือนผมบ้าง
    หมายเหตุ:
    1. ตัวเลขที่กล่าวอ้างในบทนี้ อาจจะมีความผิดเพี้ยนไปบ้างต้องขอโทษด้วยครับ เผอิญว่าผมไม่ได้จดข้อมูลโดยละเอียดของเอกสารตรงนั้นไว้จริงๆ
    2. การกล่างอ้างถึง Getty Images ในครั้งนี้ เป็นการกล่าวถึงตามความจริงที่ผมได้พบและได้เข้าใจในช่วงเวลานั้นจริงๆ หากมีอะไรผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และหากมีข้อมูลส่วนใดต้องการให้แก้ไข สามารถแจ้งได้ตลอดเวลาครับ และได้โปรดอย่าฟ้องผมอีกเลย
    3. สุดท้าย ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ Getty Images คนนั้นด้วย ต้องขอโทษด้วยครับที่ผมจำชื่อเธอไม่ได้ แต่ขอขอบคุณจริงๆ
    4. ขอบคุณชื่อหัวข้อเรื่อง “Getty Images ฟ้องจริง ถึงจริง” โดยคุณ iannnnn



เวอไนน์ไอคอร์ส

ประหยัดเวลากว่า 100 เท่า!






เวอไนน์เว็บไซต์⚡️
สร้างเว็บไซต์ ดูแลเว็บไซต์

Categories