1. จัดหมวดหมู่รายการที่ต้องจ่ายให้ชัดเจน
กลุ่มที่ 1 กลุ่มค่าใช้จ่ายหลักที่จะต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นต้น กลุ่มที่ 2 กลุ่มค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด เป็นค่าใช้จ่ายทั่ว ๆ ไปไม่ประจำ เช่น ค่าการ์ดงานต่าง ๆ ค่าซ่อมแซมสิ่งของที่เกิดชำรุดแตกหัก เป็นต้น กลุ่มที่ 3 กลุ่มค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่าเครื่องประดับ ค่าหนังสือ ค่าดูหนัง เป็นต้น กลุ่มที่ 4 กลุ่มเงินเก็บออม จะต้องเก็บเป็นประจำทุก ๆ เดือน
2. อย่าประมาทในการใช้เงิน
อย่าคิดว่าการมีเงินมาก บ้านรวย รถหรู อยู่สบาย เงินเดือนหลายหมื่น เลยใช้เงินสะบั้น หั่นแหลกไม่เคยเก็บ คุณกำลังใช้ชีวิตอย่างประมาทที่สุด อย่าลืมว่าอาจมีวันหนึ่งข้างหน้าที่คุณต้องออกจากงาน อาจมีวันหนึ่งที่คุณป่วยจนทำงานไม่ได้ และอย่าลืมว่าบางช่วงของชีวิตย่อมมีเรื่องฉุกเฉินให้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นเพราะคนในครอบครัวป่วย พี่น้องติดคดี รถเสีย บ้านพัง เมื่อถึงเวลานั้นคุณจะไปเอาเงินจากไหนมาใช้ จะพึ่งใครก็ยากเต็มที เพราะตอนคุณมีทั้งแรงและเงินคุณ ไม่เคยเก็บ อย่างนี้คงเข้าตาจนแน่นอน เพราะฉะนั้นจงอย่าประมาทในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเงินทอง
3. เห็นคุณค่าเงินทุกบาททุกสตางค์
ให้คิดหาเหตุผลทุกครั้งที่จะเสียเงินแลกกับสิ่งที่ต้องการ กว่าคุณจะได้เงินมาเหน็ดเหนื่อยเพียงใด แล้วคุณจะได้สติจากการพิจารณาว่า ของที่คุณซื้อมานั้นจำเป็น ต่อชีวิตคุณมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดการยับยั้งชั่งใจ ทำอย่างนี้ทุกครั้ง จนกระทั่งเงินในกระเป๋าของคุณมีมากกว่าเงินที่ไหลออก
4. สะสมเงินอยู่เสมอ
สะสมใดไหนเท่าสะสมเงิน เงินเป็นวัตถุที่มีคุณค่าอยู่ในตัว ถ้าคุณอยากรู้ว่าเงินมีคุณค่ามากแค่ไหน ให้ลองหยิบแบงก์พัน มาขยำและเหยียบยํ่าให้สะใจ จากนั้นลองถามใคร ต่อใครดูว่าพวกเขายังต้องการแบงก์พันใบนี้หรือไม่? แล้วคุณจะรู้ว่าเงินไม่เคยสูญคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่ามันจะอยู่ในสภาพใด ฉะนั้นการเก็บสะสมเงินของคุณจึงไม่เคยสูญค่า แม้ว่าคุณจะเริ่มต้นอย่างช้า ๆ ด้วยการเก็บวันละ 10 บาทก็ตามที ถ้าคุณสะสมเงินได้เช่นนี้เป็น ประจำ เงินของคุณจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน ตราบเท่าที่เงินยังมีความสำคัญอยู่
5. ปฏิวัติตัวเอง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้จ่ายเงินเกินตัว มีเท่าไรไม่เคยพอ กลางเดือนเงินก็หมดแล้วต้องเที่ยวหาหยิบยืมจากคนอื่นมาใช้เป็นประจำ คุณมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองเสียใหม่ หันมาใช้ให้น้อย ประหยัดให้มาก เก็บออมให้เยอะ เผื่อใช้ยามจำเป็นในอนาคตบ้าง แล้วชีวิตจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อีกมากโข
6. จัดทำงบการเงินประกอบแผน
การทำงบการเงินถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หลังจากคุณทำงบประมาณการเงินไปได้ไม่นานคุณจะค้นพบประโยชน์เหล่านี้
1. ช่วยทำให้รู้ว่าได้ใช้เงินไปในทางไหนบ้าง
2. การทำงบประมาณการเงินเป็นประจำจะทำให้คุณวางแผนการ ใช้เงินในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
3. การใช้จ่ายเงินของคุณมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4. คุณสามารถเก็บออมเงินได้มากขึ้น
5. หนี้สินที่มีอยู่จะค่อยๆ หมดไป
คุณคงเห็นแล้วว่าแค่ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงบประมาณการ เงินเพียง 5 ข้อดังที่กล่าวมานี้ จะทำให้คุณสามารถจัดการกับเรื่องการเงินที่หลายคนบ่นว่าจัดการได้ยากอย่างอยู่หมัดได้