ธุรกิจโรงพิมพ์ป่วนเกิดคดีฟ้องร้องลิขสิทธิ์ฟ้อนต์ไทย
สำนักข่าวไทย : ธุรกิจโรงพิมพ์ป่วน เกิดคดีละเมิดลิขสิทธิ์ฟ้อนต์ไทยอีกระลอก ขณะที่สมาคมการพิมพ์ไทยทำได้แค่วอนผ่านสื่อ ปล่อยให้โรงพิมพ์แก้ปัญหากันเองหากถูกจับกุม ชี้เป็นจุดอ่อนของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ทำทุกอย่างคลุมเครือ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล นายกสมาคมการพิมพ์ไทย นำทนายความออกแถลงการณ์โต้ตอบข่าวที่บริษัททริกเกอร์ จำกัด ผู้ดูแลลิขสิทธิ์ฟ้อนต์ หรือ แบบอักษร พีเอสแอล (PSL) ของนายพัลลภ ทองสุข ได้ฟ้องร้อง นายฉัตรชัย รุมรัตนะฐานละเมิดพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 โดยเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 25,000 บาท ว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีโรงพิมพ์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมเกิดความโกลาหล เกรงกลัวและเข้าใจผิด คิดว่าการใช้ฟ้อนต์ไทยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีการโทรเข้ามาสอบถามที่สมาคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ฟ้อนต์ภาษาไทยถือเป็นมรดกของชาติ ไม่ถือเป็นลิขสิทธิ์ส่วนบุคคล ซึ่งทางนายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และนายเนวิน ชิดชอบ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยได้คำยืนยันตรงกันมาแล้วในงานเสวนา เรื่อง ใช้ฟ้อนต์ไทยต้องถูกจับด้วยหรือ
แต่สำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สร้างสรรค์ฟ้อนต์ไทยนั้น ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า จะสามารถเข้าข่ายการมีลิขสิทธิ์ได้ ก็ต่อเมื่อโปรแกรมดังกล่าวจะต้องทำงานได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่มีโปรแกรมอื่นช่วยให้ทำงานได้ ซึ่งทางผู้สร้างสรรค์โปรแกรมฟ้อนต์ PSL เคยเสนอขอไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว แต่กรมระบุว่าไม่เข้าข่ายการมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
ด้านนายธนา เบญจาธิกุล เลขาธิการสภาทนายความ ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า หลังจากพิจารณาคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ฟ้อนต์ PSL ที่มีนายฉัตรชัย รุมรัตนะเป็นจำเลย พบว่า เป็นการพิพากษาตามคำรับสารภาพของจำเลย แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่า ฟ้อนต์ไทยเป็นงานลิขสิทธิ์ตามพ.ร.บ. 2537 หรือไม่ จึงไม่สามารถนำคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นบรรทัดฐานได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรอให้มีคำสั่งศาลจนถึงที่สุดเสียก่อน
นายธนายังชี้ว่า ถือเป็นจุดบกพร่องของพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่ทำให้เกิดความสับสน จึงอยากให้มีการตั้งองค์กรกลางขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะในเดือนเมษายนนี้ บริษัททริกเกอร์ จำกัด ได้ประกาศว่า จะออกจับกุมกวาดล้างการละเมิดลิขสิทธิ์ฟ้อนต์ PSL ครั้งใหญ่ ทำให้เกิดกลัวของธุรกิจโรงพิมพ์อย่างมาก พร้อมกับขอร้องว่า หากทริกเกอร์ หรือ ผู้สร้างสรรค์ฟ้อนต์รายอื่นๆ จะดำเนินการจับกุม ก็ควรดำเนินในคดีแพ่ง เพื่อให้ศาลพิพากษาว่า ฟ้อนต์ เป็นงานลิขสิทธิ์หรือไม่ จะได้นำมาเป็นบรรทัดฐานต่อไป แต่กรณีของบริษัททริกเกอร์นั้น เป็นการดำเนินคดีอาญา ซึ่งกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา
นายเกรียงไกรกล่าวเสริมว่า รูปแบบการบุกจับกุมในละเมิดลิขสิทธิ์ฟ้อนต์นั้น ส่วนใหญ่จะมีการยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้เป็นหลักฐาน และจะคืนให้ก็ต่อเมื่อเสร็จสิ้นคดี ทำให้โรงพิมพ์ต้องยอมรับสารภาพและเสียค่าปรับ เพื่อจะนำอุปกรณ์กลับมาใช้งานต่อไปได้ ดังนั้นสมาคมจะชี้แจงต่อสมาชิกว่า หากรายใดเกรงจะมีปัญหา ก็ให้ยกเลิกการใช้ฟ้อนต์ PSL ไปก่อน หรือ ถ้าต้องการใช้จริงๆ ก็ควรจะเจรจาจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์แก่ผู้สร้างสรรค์ ซึ่งล่าสุดบริษัททริกเกอร์ได้ส่งหนังสือมายังสมาคมฯให้ประสานโรงพิมพ์ เพื่อจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวรายละ 20,000 บาทให้กับเจ้าของฟ้อนต์ แต่ทางสมาคมเห็นว่า เป็นตัวเลขที่สูงเกินไป จึงปฏิเสธที่จะประสานงานให้
นายเกรียงไกรระบุว่า ตามหลักสากล ถือว่าฟ้อนต์ หรือ แบบตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดๆ ถือว่าไม่ใช่งานลิขสิทธิ์ แต่ถือเป็นมรดกของชาตินั้นๆ เพราะแม้ว่าจะมีการดัดแปลงไปในรูปแบบใด แต่ก็ยังถือเป็นการคงรูปตัวอักษรเดิมไว้ ดังนั้นผู้ใช้ตามบ้าน หรือ องค์กรต่างๆที่ใช้ฟ้อนต์ในกิจการ จึงไม่น่าจะผิดกฎหมาย และเชื่อว่าการเกิดปัญหาดังกล่าว ภาครัฐคงไม่นิ่งนอนใจที่จะทำให้การตีความกฎหมายชัดเจนกว่านี้