http://www.youtube.com/watch?v=lGpfu-KpuLw
ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) ฉบับปรับปรุง
ผู้แต่ง : STEPHEN HAWKING
ผู้แปล : ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ, ดร.ปิยบุตร บุรีคำ
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน (หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2531)
ประวัติย่อของ”กาลเวลา” เป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในวงการหนังสือวิทยาศาสตร์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการค้นพบและปรากฏผลจากการสังเกตการณ์ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคมากมาย ซึ่งสอดคล้องกับการทำนายตามทฤษฎีของฮอว์กิ้ง ในฉบับปรับปรุงใหม่นี้ เขาได้เพิ่มเนื้อหาความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดจากผลการสังเกตการณ์ล่าสุด และปรับเนื้อหาเดิมตลอดทั้งเล่มให้ทันสมัย รวมทั้งเพิ่มบทใหม่ว่าด้วยรูหนอนและการเดินทางข้ามเวลา
ประวัติย่อของกาลเวลา เป็นคู่มืออธิบายการติดตามค้นหาคำตอบต่อปริศนาพิศวงที่แก่นของเวลาและอวกาศของนักวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจได้ หนังสือเล่มนี้จะให้ภาพอย่างชัดเจนว่าทฤษฎีของฮอว์กิ้งปฏิวัติภาพเกี่ยวกับเอกภพไปอย่างไร
เดอะนิวยอร์ก ไทมส์ : มีสีสันและชวนติดตาม ฮอว์กิ้งมีพรสวรรค์ในการถ่ายทอดเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายและแฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน เขาสามารถอธิบายหลักการที่มีความซับซ้อนให้เห็นภาพได้ด้วยการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน
เดอะนิวยอร์กเกอร์ : จับใจและแจ่มแจ้งชัดเจน เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความคิดที่แหลมคม
เดอะซันเดย์ ไทมส์ (ลอนดอน) : หนังสือเล่มนี้ผสมผสานความอยากรู้อยากเห็นแบบเด็ก เข้ากับพลังปัญญาของอัจฉริยะ ขณะท่องสำรวจเอกภพไปกับฮอร์กิ้ง จะพบกับความล้ำลึกทางสติปัญญาของเขาไปด้วย
เดอะนิวยอร์ก รีวิว ออฟ บุ๊กส์ : เขาสามารถอธิบายหลักการทางฟิสิกส์และจักรวาลวิทยาที่ซับซ้อน ให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนด้วยวิธีการที่หลักแหลมเหมือนกับสมองของเขามีพลังมหัศจรรย์
“ประวัติย่อของกาลเวลา” โดย สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง สุดยอดนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะร่วมสมัยที่หาใครเทียมได้ยาก ยิ่งเมื่อคิดถึงสภาวะสังขารไม่อำนวยแบบนั้น เดินเหินก็ไม่ได้ นั่งอยู่บนรถเข็นมาหลายสิบปี สื่อสารกับคนก็ต้องใช้นิ้วจิ้มแป้นพิมพ์ดีด แล้วให้คอมพิวเตอร์แปลงเป็นเสียงออกมา เรื่องเดียวกันคนอื่นพูด 20 นาที ถ้าฮอว์กิ้งพูดต้องใช้เวลาสักหนึ่งชั่วโมง แต่เขากลับคิดค้นอะไรออกมาได้ในระดับที่ยกย่องกันว่าเป็นรองก็แต่ ไอน์สไตน์เท่านั้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ “ประวัติย่นย่อของกาลเวลา” ในชื่อภาษาอังกฤษ คือ A Briefer History of Time เป็นหนังสือเล่มใหม่ของฮอว์กิ้ง โดยฉบับภาษาอังกฤษวางตลาดทั่วโลกพร้อมฉบับภาษาไทย จะเรียกว่าเป็น “ประวัติย่อของกาลเวลา” ฉบับยกเครื่องก็ได้ เพราะฮอว์กิ้ง ร่วมกับ เลียวนาร์ด โมดินาว นำเอา “ประวัติย่อของกาลเวลา” มาปรับปรุงใหม่อีกครั้ง หากนับจากเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกก็เมื่อ 17 ปีมาแล้ว แก้ไขปรับปรุงไปครั้งหนึ่งเมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งเป็นฉบับที่สำนักพิมพ์มติชนนำมาแปลขายดิบขายดีไม่เลิกรานั่นเอง ไม่น่าเชื่อว่าจากสมการคณิตศาสตร์อันยุ่งเหยิงจะแปรสภาพมาเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาอ่านง่าย และทะลุไปถึงรากเง่าความคิดทางปรัชญาของคนบนโลกไปด้วยได้อย่างนี้ ใน “ประวัติย่นย่อของกาลเวลา” สิ่งที่ฮอว์กิ้ง กับ โมดินาว ทำก็คือ เรียบเรียงมันเสียใหม่ ตามคำขอของผู้อ่านจำนวนมาก พวกเขาขอให้ปรับปรุงใหม่ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้นกว่าเดิม คำขอจากผู้อ่านได้รับการสนองตอบ หากอ่าน “ประวัติย่นย่อของกาลเวลา” เทียบกับ “ประวัติย่อของกาลเวลา” จะพบกับความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ส่วน บางบทถูกยุบไปรวมกับบทอื่น บางบทแยกตัวออกมาเป็นอิสระ แม้ทั้งเล่มจะยังมี 12 บทเท่ากันก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ในบทที่สอง ฉบับเดิม เรื่อง “เวลา และ อวกาศ” กลายเป็นบทที่หก ในฉบับย่นย่อ ชื่อเรื่อง “อวกาศที่โค้งงอ” บทนี้ยกเครื่องใหม่พุ่งตรงเข้าสู่การอธิบายให้เข้าใจด้วยตัวอย่างแบบง่ายๆ พร้อมกับภาพประกอบที่ทำให้เห็นจริง แทนที่จะเป็นไดอะแกรมเหมือนเดิม ช่วยให้ เรื่องของเวลา และ อวกาศ ที่โค้งงอ รวมถึงการโค้งงอของแสงที่ขัดกับสามัญสำนึกของมนุษย์เดินดิน กลับกระจ่างแจ้งกว่าเดิมหลายเท่า รายละเอียดในเชิงเทคนิคที่ซับซ้อนและเข้าใจยากถูกตัดออกไป มีทฤษฎี ใหม่ๆ ข้อมูลจากการค้นคว้าและการค้นพบใหม่ๆในรอบยี่สิบปีเสริมเข้ามาในส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ นั่นก็คือ ทฤษฎีการรวมแรง หรือ ทฤษฎีสรรพสิ่ง ความก้าวหน้าของทฤษฎีสตริง และความสอดรับกันระหว่างทฤษฎีต่างๆ ทฤษฎีสตริงนี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในความเป็นได้มากที่สุดในการรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพเข้ากับกลศาสตร์ควอนตัม หรือ ทฤษฎีรวมแรงที่จะไขปริศนาแห่งเอกภพไปจนถึงการทำนายอนาคตได้ในที่สุด อ่านได้เข้าใจกระจ่างขึ้นกว่าต้นฉบับเก่ามากเลยทีเดียว เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่าน และคนที่อ่านไปแล้วแต่อยากจะเข้าใจให้มากขึ้น รวมไปถึงคนที่ต้องการรู้ถึงความก้าวหน้าล่าสุดของวงการฟิสิกส์