10 สาเหตุที่ทำให้เครื่องของคุณแฮง ทำไมเครื่องที่ตนเองซื้อมาถึงแฮงบ่อยนัก ทั้ง ๆ ที่เพิ่งซื้อมาไม่กี่เดือนเอง
บางคนซื้อมาใช้ได้ไม่ถึงวัน เครื่องก็แฮงไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบแล้ว เจอแบบนี้ เสียความรู้สึกมากเลยใช่ไหมครับ เรามาดูสาเหตุกันดีกว่า ว่าทำไมเครื่องถึงได้แฮงบ่อยนัก
ซีพียู
เครื่องที่แฮงบ่อย เนื่องจาก ซีพียู นี้ เกิดจากการนำเอา ซีพียูรุ่นต่ำกว่ามาขายเป็นรุ่นสูงกว่า
เนื่องจากซีพียูแต่ละตัว จะถูกผลิตให้ทำงานเกินมาตรฐานประมาณ 20 % อยู่แล้ว ทำให้เกิดมีพ่อค้าหัวใส
เอาซีพียูรุ่นต่ำกว่ามาสกรีนข้อความบนตัวซีพียูใหม่ เป็นรุ่นสูงกว่า ขายได้ในราคาสูงกว่า
วิธีการแบบนี้เรียกว่า การ remark บางครั้ง ผู้ขายเครื่อง (ประกอบเครื่องขายอีกที) ก็ไม่รู้ว่า
ซีพียูนั้นถูก remark หรือไม่ เขาก็รับซีพียูมาเพื่อประกอบอีกทีหนึ่ง พวกนี้ เวลาเรานำเครื่องไปเคลม
เขาเองก็หาสาเหตุไม่ได้เหมือนกัน ก็ต้องลองเปลี่ยนชิ้นส่วนไล่ไปทีละตัว จนกว่าเครื่องจะมีอาการดีขึ้น
ยังมีร้านค้าบางร้าน จะตั้งใจโกงลูกค้าเองเลยก็มี เช่น
นำเอาซีพียูความเร็วต่ำมาขายเป็นซีพียูความเร็วสูง เขาจะใช้เทคนิค การ overclock ซีพียู
คือจะตั้งให้ซีพียูทำงานในความถี่ที่สูงขึ้นเกินมาตรฐาน ยิ่งถ้าเป็น ซีพียูของ Intel ด้วยแล้ว overclock
ได้มาก อีกทั้งยังมีพัดลมติดมากับซีพียูเลย หรือ จะเป็นกล่องหุ้มไว้ถ้าเป็น Pentium II หรือ III .
ถ้าเกิดลูกค้าใช้แล้วไม่เกิดปัญหาใดๆ รับรองว่าลูกค้าไม่รู้แน่ๆ ผู้ขายก็ได้กำไรไปสบาย ๆ(Celeron 300A
เกือบทุกตัว สามารถ overclock ได้เป็น 450 MHZ สบาย ๆ )
พัดลมซีพียู
พัดลมก็สามารถเป็นสาเหตุให้เครื่องแฮงได้เหมือนกัน พัดลมที่เป่าตัวซีพียู ถ้าเป็น ซีพียู ของ Intel
ก็คงไม่น่าจะมีปัญหา เพราะจะมีพัดลมติดมากับตัดซีพียูเลย แกะออกยาก แต่ถ้าเป็นของค่ายอื่น เช่น AMD หรือ
Cyrix พัดลมจะต้องติดแยกต่างหาก พัดลมที่ทางร้านค้าติดมาหรือที่เราซื้อแยกมาต่างหาก
ถ้าเป็นพัดลมคุณภาพต่ำ หรือเป็นพัดลมตัวเล็ก ไม่เพียงพอความต้องการของซีพียู
ก็จะทำให้ซีพียูเกิดความร้อนสูงเกินไป จนทำให้เครื่องแฮงได้ ถ้าแน่ใจว่าพัดลมตัวใหญ่พอ
สาเหตุอาจเกิดจากพัดลมเสีย คือ หมุนบ้างไม่หมุนบ้าง หรือไม่หมุนเลย แบบนี้ ซื้อตัวใหม่เปลี่ยนได้เลย
ถ้าซื้อใหม่ ควรซื้อพัดลมที่มีตัววัดรอบการหมุนของใบพัดด้วย เราจะได้ตรวจเช็คได้โดยทาง software หรือ
ทาง bios โดยไม่ต้องเปิดฝาเครื่องดู
เพาเวอร์ซัพพลาย
หลายคนคงหาสาเหตุการแฮงไม่เจอ เปลี่ยนชิ้นส่วนทุกชิ้นส่วนดูแล้ว ฟอร์แมต ลงโปรแกรมใหม่ก็แล้ว
เครื่องก็ยังแฮงอยู่เรื่อย ใครจะรู้ อีกสาเหตุหนึ่งมาจากตัวเพาเวอร์ซัพพลายนี่แหละครับ
ถ้าเพาเวอร์ซัพพลายไม่ดี คือ จ่ายไฟไม่สม่ำเสมอ จ่ายไฟขาดบ้าง เกินบ้าง ไม่ใช้แค่เครื่องแฮงครับ
ชิ้นส่วนบางชิ้น หรือทุกชิ้น อาจพังได้ ต้องระวังให้ดี เราสามารถเช็คกระแสไฟได้จาก bios หรือจาก
software เช่น Motherboard Monitor คอยหมั่นเช็คก็ดีครับ แต่ถ้าเจอแบบ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายหละก็
คงเช็คยาก ลงทุนเปลี่ยนตัวใหม่ก็ดีครับ ตัดปัญหา เพาเวอร์ตัวหนึ่ง ถ้าเป็น AT ไม่เกิน 500 บาทหรอกครับ
ถ้าเป็น ATX ก็ไม่น่าเกิน 800 บาท (แบบมาตรฐาน)
ฮาร์ดดิสค์
อีกสาเหตุหนึ่งก็ตัว ฮาร์ดดิสค์ นี่แหละครับ คือ อาการ bad sector
ที่เกิดขึ้นแบบจานแม่เหล็กในฮาร์ดดิสค์ เราสามารถตรวจเช็คได้ง่าย โดยการใช้ scandisk ของตัว Windows
นี่แหละครับ เลือก option : Thorough ถ้าเจอ bad sector จริง ก็รีบ mark ตัว bad sector ไว้
เพื่อไม่ให้เครื่องเข้าถึงข้อมูลใน sector นั้นอีก ถ้าตัวฮาร์ดดิสค์ยังอยู่ในประกัน (3-5 ปี)
เอาไปเคลมเลยครับ อย่ารอช้า ถ้าหมดประกันแล้ว ก็ต้องทนใช้ไปครับ ถ้า mark bad sector แล้ว
ก็ใช้ได้ดีครับ แค่ทำให้พื้นที่เก็บข้อมูลลดลงไปเท่านั้น ถ้ายังไม่พอใจ ซื้อใหม่เลย (อีกแล้ว)
หน่วยความจำ
หน่วยความจำ หรือ แรม นี้มีต่อมากกับการแฮงของระบบ ถ้าเป็นแรมคุณภาพต่ำ รับรอง ใช้ไปแฮงไป ถ้าพบว่า
แรมเป็นสาเหตุ รีบนำไปเปลี่ยนกับร้านที่ซื้อมาครับ ก่อนจะหมดประกัน แล้วทุกอย่างจะลงเอยด้วยดี
บางครั้ง สาเหตุไม่ได้เกิดจากแรมไม่ดี แต่ว่าเป็นการติดตั้งครับ คือ ถ้าเราเสียบแรมไม่เข้าล็อคของมัน
ก็เป็นสาเหตุให้เครื่องแฮงได้ เราจะสังเกตุได้จาก บางครั้งเครื่องจะ detect แรมผิดพลาด
บางทีเจอแค่แผงเดียว ถ้าเกิดมีแผงเดียวอยู่แล้ว ก็อาจทำให้เครื่อง detect แรมไม่เจอเลย แบบนี้ boot
ไม่ขึ้นเลยครับ เวลาเสียบ ต้องเสียบให้เข้าล็อคครับ กดลงไปลึก ๆ
จนขาทั้งสองข้างของตัวรับสามารถพับขึ้นมาล็อคตัวแรมได้ เวลาเสียบระวังหักนะครับ จับมั่นๆ เอาไว้
เมนบอร์ด
อีกสาเหตุหนึ่ง ก็คือตัวเมนบอร์ดเองครับ ถ้าเป็นเมนบอร์ดคุณภาพต่ำ ราคาถูก อาจเป็นสาเหตุได้
ปัญหานี้ตรวจเช็คได้ยากครับ คงต้องยกไปที่ร้าน ให้ลองเปลี่ยนชิ้นส่วนอื่น ๆ ดู ถึงจะพบปัญหานี้ได้
ถ้าสาเหตุเป็นที่เมนบอร์ดจริง ก็คงแย่หน่อย เพราะทางร้านจะส่งซ่อม แทนที่จะเคลมอันใหม่ให้
ต้องรอนานอย่างน้อยเป็นเดือนหรือมากกว่านั้นครับ ยกเว้น เพิ่งซื้อไม่เกินหนึ่งสัปดาห์
อาจได้เปลี่ยนเป็นของใหม่ทันที ต้องแล้วแต่ร้านที่ซื้อมาแล้วครับ
ความเข้ากันได้ของอุปกรณ์ต่าง ๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ความเข้ากันได้ของอุปกรณ์แต่ละชิ้น ที่พบบ่อยๆ จะเป็นการเข้ากันไม่ได้ของ
เมนบอร์ดกับการ์ดแสดงผล เมนบอร์ดกับแรม จะมีบ้างคือเมนบอร์ดกับฮาร์ดดิสค์ อุปกรณ์แต่ละตัว
ไม่มีตัวไหนเสียหรือรวน ทุกตัวใช้การได้ดีหมด เพียงแต่อยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้าพบปัญหานี้
ลองค้นข้อมูลของอุปกรณ์แต่ละชิ้นในอินเตอร์เนท อาจจะมี patch ออกมาแก้ไขปัญหาได้
ถ้าไม่มีคงต้องปรึกษากับร้านที่คุณซื้ออุปกรณ์มา อธิบายปัญหาให้เขาฟังเพื่อจะขอเปลี่ยนชิ้นส่วนนั้น ๆ
เป็นตัวอื่นที่ไม่มีปัญหา
ไวรัส
อาการแฮงจากไวรัสนี้ แม้จะสร้างปัญหามาก แต่สามารถตรวจพบ และ แก้ไข ปัญหาได้ง่าย
ขอเพียงหมั่นตรวจเช็คเจ้าวายร้าย ไวรัส ให้สม่ำเสมอ ปัญหานี้จะหมดไป
Driver
ถ้าคุณลง driver ไม่ตรงกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ รับรองเกิดปัญหาแน่ ซึ่งอาจทำให้เครื่องแฮงได้บ่อย ๆ
เหมือนกัน ฉะนั้น เราจะต้องระวังปัญหานี้ไว้ด้วย สามารถตรวจเช็คว่าได้ลง driver ไว้ตรงตามรุ่นหรือไม่
โดยการ คลิกขวาที่ My Computer เลือก Property แล้วเลือก Device Manager อีกที
ถ้าอุปกรณ์ใดที่มีเครื่องหมายตกใจ (!) ให้รีบแก้ไข driver ใหม่ให้ตรงตามรุ่นที่มีอยู่
ตัวเราเอง
ฟังดูแล้วบางคนอาจจะหัวเราะเยาะว่า ใครจะบ้าจะทำให้เครื่องตัวเองแฮงบ่อย สร้างปัญหาให้กับตัวเอง จริง ๆ
แล้ว พวกเราอาจจะไม่ตั้งใจทำก็ได้ อาจเกิดจากความไม่รู้ ความสะเพร่า หรือความรีบร้อน เราอาจจะอยากกำจัด
file ที่คิดว่าไม่สำคัญออกจากฮาร์ดดิสค์โดยการลบทิ้ง แต่แท้จริง file นั้นสำคัญมาก ถ้า file นั้นเสียหาย
หรือ หายไป จะทำให้เกิดอาการผิดปกติของโปรแกรมได้ บางคนอาจจะรีบร้อนปิดเครื่องโดยที่ไม่สั่ง shutdown
เสียก่อน file ต่างๆ ที่ load ไว้ยังไม่ถึงสั่งปิดอย่าถูกวิธี ทำให้ file นั้น ๆ เสียหายได้
และทำให้เครื่องแฮงได้ ฉะนั้น ทางแก้ไขคือ เราจะต้องศึกษาการใช้โปรแกรมนั้น ๆ เสียก่อน
เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้แบบผิด ๆ ถูก ๆ สร้างปัญหาให้ตัวเองอย่างไม่รู้ตัว