โทริยามะ อากิระ (Toriyama Akira) 68 R.I.P.
▪️▪️▪️
ผม #ชื่นชอบผลงานของ อาจารย์เทะสึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu ผู้ให้กำเนิดเจ้าหนูปรมาณู) และ วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) เพราะแบบนี้จึง #หลงรักการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่จำได้ว่าตัวเองนั่งวาดรูปหุ่นยนต์คิงคองได้ทุกวี่ทุกวันไม่รู้จักเบื่อ
พอเข้าชั้นประถมศึกษา #เริ่มต้นฝึกฝน การออกแบบด้วยการนำคาแรกเตอร์จากภาพยนตร์แอนิเมชัน One Hundred and One Dalmatians ของดิสนีย์ ซึ่งผมชื่นชอบ และมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ผลงานของผมในเวลาต่อมา มาใช้สำหรับการแข่งขันออกแบบในชั้นเรียน
หลังเรียนจบโรงเรียนเทคนิคการออกแบบ (Design Department of Prefectural Technical High School) เมื่อปี 1974 ผม #ตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และเข้าไปทำงานที่บริษัทโฆษณาใกล้ๆ บ้าน โดยมีหน้าที่ออกแบบใบปลิวโฆษณา แต่ด้วยเพราะบริษัทต้องการประหยัดต้นทุนสำหรับการจ้างคนภายนอกมาทำอาร์ตเวิร์ก ผมเลยต้องรับผิดชอบเรื่องการวาดภาพไปด้วย ตอนนั้นผมวาดแทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้าเด็ก เนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งตู้เสื้อผ้า! ซึ่งการทำแบบนั้นนานวันเข้า ทำให้ผมได้ฝึกฝนตัวเองจนกลายเป็นคนที่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง และกลายเป็นพนักงานทรงคุณค่าของบริษัทไปในที่สุด
แต่สุดท้ายผมก็ทำได้เพียง 2 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออก เพราะว่า…. ผมขี้เกียจตื่นแต่เช้า
ต้องทำงานแทบทุกอย่าง มันเลยทำให้ผมต้องทำงานจนถึงดึกๆ ดื่นๆ ในทุกๆ วัน แต่ในวันถัดไปผมต้องไปทำงานให้ทันเวลา 08.30 น. ในทุกๆ วันอยู่ดี สุดท้ายผมเลยเริ่มมาทำงานสายเพราะผมอยู่ทำงานจนดึกทุกวัน (หัวเราะ)
แต่เวลาโบนัสออกทีไร ผมจะรู้สึกท้อแท้ทุกครั้งที่เห็นตัวเลข (หัวเราะ) ผมจึงคิดว่าตัวเองน่าจะไม่เหมาะสมกับการทำงานออฟฟิศ จึงได้ตัดสินใจลาออก
จุดเปลี่ยนสู่การมุ่งหน้าเป็น Mangaka
หลังลาออกงานประจำ หันไปทำงานพาร์ทไทม์ร่วม 1 ปี ตอนนั้นแทบจะไม่มีเงินเลย เวลาออกไปข้างนอกทีไร ผมจึงไปได้แค่ร้านกาแฟ และที่ร้านกาแฟนั่นเองที่ทำให้ผมกลับมาอ่านมังงะอีกครั้งเพื่อฆ่าเวลา
จนกระทั่งวันหนึ่งผมไปหยิบนิตยสารมังงะสำหรับเด็กผู้ชายฉบับหนึ่งขึ้นมา จนกระทั่งได้ #เจอบทความประกาศ หาผู้ส่งงานเข้าประกวดนักเขียนหน้าใหม่ โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลถึง 500,000 เยน! (120,423 บาท)
จึงตัดสินใจเริ่มตั้งหน้าตั้งตาเขียนมังงะอย่างจริงจัง (เพื่อหวังเงินรางวัล) ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นแทบไม่เคยวาดงานแนวมังงะเพื่อส่งเข้าประกวดมาก่อนเลย พอลงมือวาดจริงๆ มันเลยใช้เวลามากกว่าที่คิด เลยกำหนดเวลาส่งเข้าประกวดของนิตยสารฉบับนั้นไป
ในเมื่ออุตส่าห์เขียนจนเสร็จแล้ว หากเลือกที่จะรอนิตยสารมังงะฉบับนั้นซึ่งเปิดรับสมัครเพียงปีละ 2 ครั้ง มันก็จะนานเกินไป ผมเลยตัดสินใจส่งงานไปประกวดที่ “โชเน็นจัมป์” ที่เปิดประกวดรับงานศิลปินหน้าใหม่ทุกเดือนแทน ถึงแม้ว่าจะมีเงินรางวัลเพียง 100,000 เยน (24,084 บาท) ก็ตามเถอะ!
◾เส้นทางกว่าจะเป็นศิลปิน Mangaka ที่มีชื่อเสียง
หลังส่งผลงานแรกไปประกวดที่ “โชเน็นจัมป์” งานของผมไม่ผ่านการคัดเลือก และไม่ได้รับแม้กระทั่งรางวัลชมเชย
หลังผ่านการทำงานอย่างหนักร่วม 1 ปี กับผลงานต้นฉบับมากมายหลายชิ้นที่ถูก “ปฏิเสธ” ในที่สุด #ความเพียรพยายามของผมก็ประสบความสำเร็จ เมื่อมังงะเรื่อง “Wonder Island” ถูกตีพิมพ์ลงบน “โชเน็นจัมป์” ได้สำเร็จในปี 1978
◾ความสำเร็จครั้งแรก
ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่
มันเป็นมังงะที่ว่าด้วยเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง “โนริมากิ เซมเบ้” และหุ่นยนต์แอนดรอยด์สุดใจดีและแสนไร้เดียงสา “โนริมากิ อาราเล่” ที่ร่วมกันสร้างความวุ่นวาย (แต่น่ารักน่าชัง) ทั่วหมู่บ้านเพนกวินซึ่งเต็มไปด้วย เหล่าคนที่ดูไม่ค่อยปกติ หรือแม้กระทั่งมนุษย์ต่างดาวที่สุดพิลึกพิลั่น
โดย ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่ หรือในชื่อ Dr.Strange and the Robot Doll ที่ทางฝั่งตะวันตกรู้จัก ถือเป็นมังงะเรื่องแรกก็ว่าได้ที่ทำให้พวกคุณรู้จักผมใช่ไหม? (หัวเราะ)…
“อาราเล่จัง” ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกใน “โชเน็นจัมป์” ตั้งแต่เมื่อปี 1980 ก่อนจะถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะออกอากาศทางโทรทัศน์ในปี 1981 (ครั้งที่ 2 ในปี 1997) โดยในช่วงที่พีกที่สุดนั้นเคยมียอดผู้ชมสูงสุดถึง 36.9%
ซึ่งการประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามของ “ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่” เป็นผลให้มีการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องออกมาวางจำหน่ายอย่างมากมาย จนกระทั่งกลายเป็นต้นทางของการตลาดแนวมีเดียมิกซ์ของ “โชเน็นจัมป์” ในเวลาต่อมาด้วย
◾สำหรับ “ดราก้อนบอล”
“ซุน โกคู” หรือ “โง กุน” ของน้าต๋อย เซมเบ้ และแฟนๆ ช่อง 9 การ์ตูนในประเทศไทย ปรากฏตัวใน “โชเน็นจัมป์” ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 1984 สามารถสร้างยอดขายฉบับรวมเล่ม 42 เล่ม ได้รวมกันมากกว่า 260 ล้านเล่มทั่วโลก จากการประเมินของสื่อชื่อดังอย่าง San Francisco Chronicle ของสหรัฐฯ ในปี 2019 สำหรับฉบับอนิเมะ ออกอากาศทางโทรทัศน์ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 1986
◾บริษัท Oricon ของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดขายผลงานที่เกี่ยวข้องกับดราก้อนบอลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นมังงะ, ผลงานเพลง หรือวิดีโอ ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2008 จนถึงเดือนมีนาคม 2024 สร้างมูลค่ารวมสูงถึง 13,000 ล้านเยน (3,131 ล้านบาท)
ต้นทางไอเดีย อาราเล่จัง และ ซุน โกคู
สำหรับผมแล้ว “โทริชิมา คาซุฮิโกะ” (Torishima Kazuhiko) ชายคนนี้คือ บก.ปิศาจในตำนานของ “โชเน็นจัมป์” อย่างแท้จริง (หัวเราะ) แต่ในทางกลับกันเขาคือ บก.ที่ช่วยชี้ทางให้ผม และศิลปินของจัมป์หลายๆ คนไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน
ในตอนที่ผลงานของผมไม่ผ่านการคัดเลือก คุณโทริชิมา คาซุฮิโกะ กลับเป็นคนเดียวที่ประทับใจกับผลงานของผม แต่เอาจริงๆ ถ้าหาก คุณ ฟังคำชมของเขา บางทีคุณอาจเข้าใจก็ได้ว่าเพราะอะไรเขาจึงได้รับฉายาให้เป็น บก.ปิศาจ (หัวเราะ)
เพราะเขาบอกกับผมว่า…ผลงานของผมแม้จะน่าเบื่อ (หัวเราะ) แต่วิธีที่ผมเขียนเสียงประกอบกับโลโก้นั้นถือเป็นไอเดียที่ดีมากกกก…. (หัวเราะ)
นอกจากนี้เขายังแนะนำว่าการที่ผมวาดรูปเด็กผู้หญิงออกมาน่ารักใช้ได้ จึงควรวาดมังงะที่มีคาแรกเตอร์นำเป็นผู้หญิง ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าผมชอบการวาดคาแรกเตอร์ผู้ชายมากกว่า (หัวเราะ)
ซึ่งคำชมที่ว่านี้ของ คุณโทริชิมา คาซุฮิโกะ ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกดีใจเลยสักนิด (หัวเราะ) แต่…ที่สุดแล้วเขาก็พูดกับผมอีกว่า ดูจากผลงานของผมแล้วน่าจะมีแววอยู่บ้าง และให้ผมพยายามต่อไป และส่งผลงานมาให้กับเขาโดยตรง
ผมรู้สึกได้ว่า บก.ปิศาจคนนี้อาจกำลังมองหาศิลปินสไตล์ใหม่ๆ ที่แตกต่างจากศิลปินที่อยู่ในกรอบเดิมๆ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วผมคิดว่า คุณโทริชิมา ชอบมังงะสำหรับเด็กผู้หญิง และไม่น่าจะชอบมังงะที่เต็มไปด้วยมัดกล้าม และอิงกับสูตรสำเร็จของ “โชเน็นจัมป์” นั่นคือ ความเป็นเพื่อน ความพยายาม และชัยชนะ
คุณโทริชิมา น่าจะเป็น บก.คนแรกๆ ของโชเน็นจัมป์ที่พยายามแหวกขนบดั้งเดิมของบริษัทเลยก็ว่าได้ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเขาจึงให้อิสระแก่ผมในการวาดมังงะในแบบที่ตัวเองชื่นชอบ แทนที่จะพยายามยัดสูตรสำเร็จของจัมป์เข้ามาในหัวผม จนเป็นผลให้ “อาราเล่จัง” กลายเป็นความน่ารัก และแตกต่างท่ามกลางชายวัยรุ่นสุดดีเดือดในโชเน็นจัมป์ได้ในที่สุด
ส่วนในกรณีของ “ดราก้อนบอล” ก็เป็น บก.ปิศาจคนนี้อีกเช่นกันที่ร้องขอ หรือจะว่าไปน่าจะเป็นบีบบังคับมากกว่า (หัวเราะ) ให้ผมเปลี่ยนแนวทางการเดินเรื่อง ซึ่งเน้นไปที่การผจญภัยเบาสมอง ไปสู่แนว Action ที่เน้นการต่อสู้
หลังความพยายามเดินตามรอยความสำเร็จของ “ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่” ที่ช่วยให้ ดราก้อนบอล ประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ นั้น ค่อยๆ มีความนิยมถดถอยลง อีกทั้งผลสำรวจความเห็นของ “โชเน็นจัมป์” ยังพบด้วยว่า บรรดาแฟนคลับส่วนใหญ่ (ในเวลานั้น) ชื่นชอบมังงะแนวต่อสู้มากกว่า!
โดยอาจารย์โทริยามะ อากิระ ยอมรับว่า ดร.มาชิโรโตะ ถือกำเนิดขึ้นเพราะหลายต่อหลายครั้งที่ไอเดียที่ตัวเองพยายามนำเสนอ มักถูกปัดตกจาก บก.ปิศาจคนนี้อยู่เสมอๆ
ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับ…สิ่งประดิษฐ์ หรือแนวคิดของ ดร.มาชิโรโตะ ที่มักจะยืนอยู่ในจุดที่ตรงกันข้ามกับ ดร.โนริมากิ เซมเบ้ อยู่เรื่อยไปนั่นเอง!
และเมื่อเรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกนอกจากอาณาจักรโชเน็นจัมป์มีเรื่องเล่าด้วยว่า บรรดาแฟนคลับพยายามเฟ้นหาตัวจริงของ บก.ปิศาจคนนี้ให้จงได้ โดยใช้ทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ของ ดร.มาชิโรโตะ เป็นตัวเปรียบเทียบ ด้วยเหตุนี้ บก.โทริชิมา คาซุฮิโกะ จึงตัดสินใจเปลี่ยนทรงผมของตัวเองทันที!
◾เคล็ดลับความสำเร็จเฉพาะตัว
ผมไม่เคยชื่นชมผลงานของตัวเอง หรือแทบไม่ได้อ่านผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ของตัวเองเลยครับ
นั่นจึงทำให้ผมสามารถมองผลงานของตัวเองด้วยสายตาของบุคคลภายนอกได้ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีนะ พูดง่ายๆ ก็คือ ถึงผมจะรู้ว่าเรื่องที่ผมวาดเกี่ยวกับอะไร แต่ถ้าคนนอกมองงานของผมเป็นครั้งแรกแล้วไม่สามารถทำความเข้าใจได้ มันก็ไม่มีความหมาย อีกทั้งมันยังทำให้ผมรู้สึกไม่ถูกกดดันจากความสำเร็จมากเกินไปด้วย
◾ความมั่งคั่งของ “อาจารย์โทริยามะ อากิระ”?
สื่อในญี่ปุ่นประเมินว่า ค่าลิขสิทธิ์จากผลงานต่างๆ โดยเฉพาะจากดราก้อนบอล น่าจะทำให้อาจารย์โทริยามะมีทรัพย์สินทั้งสิ้นประมาณ 11,440 ล้านเยน เป็นอย่างน้อย (2,755 ล้านบาท)
◾เพราะอะไร “อาจารย์โทริยามะ อากิระ” จึงใช้ชื่อจริงแทนนามปากกา
อาจารย์โทริยามะ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะในช่วงแรกคิดว่าผลงานของตัวเองน่าจะไม่โด่งดังได้ แต่นั่นคือการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะหลังจากกลายเป็นคนมีชื่อเสียง บ้านพักที่จังหวัดไอจิก็มักถูกแฟนคลับแห่มาพบ หรือไม่ก็ต้องรับโทรศัพท์สายแปลกๆจำนวนมากอยู่เสมอๆ
◾อาจารย์โทริยามะ อากิระ” ไม่ใช้สมาร์ทโฟน?
บิดาแห่งดราก้อนบอล ไม่ชื่นชอบการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพราะคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการคุกคามเวลาส่วนตัว ด้วยเหตุนี้จึงเลือกที่จะสื่อสารผ่านอีเมลด้วยคอมพิวเตอร์มากกว่า
◾เพราะอะไร อาจารย์โทริยามะ มักไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อ หรือเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชนมากนักนั้น เป็นเพราะบิดาแห่งจักรวาลดราก้อนบอลไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากสารพัดมังงะของเขาติดไปกับชีวิตจริง
◾จริงแล้วๆ อาจารยโทริยามะ ไม่ชอบมังงะแนวต่อสู้?
อาจารย์โทริยามะ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นว่า ไม่ค่อยชื่นชอบ หรือคุ้นเคยกับมังงะที่เน้นการต่อสู้มากนัก แต่เพราะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ (คำสั่งมากกว่า) ของ บก.ปิศาจแห่งโชเน็นจัมป์
การปรับเนื้อเรื่องของดราก้อนบอลให้กลายเป็น Action เต็มตัว เป็นผลให้ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบอย่างอาจารย์โทริยามะต้องทำงานหนักขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อให้ภาพวาดการเคลื่อนไหวในการต่อสู้ของคาแรกเตอร์ต่างๆ เกิดความสมจริงสมจังมากยิ่งขึ้น
โดยครั้งหนึ่งการทำงานอย่างหนักมาอย่างยาวนาน ถึงกับทำให้อาจารย์โทริยามะถึงกับมีอาการเส้นเอ็นอักเสบจนแทบจะขยับมือไม่ได้ แต่แล้วใครจะเชื่อเมื่อเรื่องนี้ไปถึงหูของ บก.โทริชิมา คาซุฮิโกะ คำถามที่กลับมาถึง อาจารย์โทริยามะ คือ “นายยังเขียนชื่อของตัวเองได้ไหม?”
เมื่ออาจารย์โทริยามะตอบไปว่า “ผมยังเขียนชื่อของตัวเองได้” บก.ปิศาจผู้นี้ ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วว่า “ถ้านายยังเขียนชื่อตัวเองได้ นายก็วาดมังงะได้!”