ฐานเศรษฐกิจ
22 เม.ย. 2566 | 05:43 น.
การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ยืนยัน อากาศร้อน ทำค่าไฟแพง แม้เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม โชว์ผลการทดลอง เปิดเครื่องปรับอากาศ ชัดๆ อากาศร้อนทำแอร์กินไฟเพิ่มจริง รวมด้วยการเปิดปิดตู้เย็นบ่อย การใช้น้ำมาก
“ค่าไฟแพง” ถือเป็นเรื่องร้อนไม่แพ้อากาศในขณะนี้ เนื่องจากผู้ใช้ไฟต่างพากันโพสต์ภาพใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่ค่าไฟพุ่งสูงขึ้นหลายเท่า พร้อมยืนยันว่ามีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม ในขณะเดียวกันบรรดาพรรคการเมือง นักการเมืองต่างๆ ก็ล้วนพากันโชว์วิสัยทัศน์แก้ค่าไฟฟ้าราคาแพงกันยกใหญ่
การไฟฟ้านครหลวง(MEA) ได้ออกมายืนยัน ถึงสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในช่วงอากาศร้อน หรือ ฤดูร้อน เป็นเพราะมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และยืนยันด้วยว่ายังไม่มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า หรือ ค่าเอฟทีแต่อย่างใด โดยนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง MEA ในฐานะโฆษก MEA ได้เปิดเผยถึงสาเหตุ ที่ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เนื่องจากมีหน่วยการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น
สภาพอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต้องทำงานมากขึ้นและใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยเห็นได้จากค่าพลังความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ล่าสุด มีค่าเท่ากับ 8,904.66 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในวันที่ 18 เมษายน 2566 ซึ่งค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด มักจะพบว่าอยู่ในช่วงฤดูร้อนทั้งสิ้น
นอกจากนั้น การไฟฟ้านครหลวง(MEA) ยังได้ทำการทดลอง เพื่อพิสูจน์ว่าการเปิดเครื่องปรับอากาศในขณะที่อุณหภูมิภายนอกสูง หรืออากาศร้อน มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าสภาวะอากาศปกติหรือไม่
ผลการทดลองพบว่า การเปิดเครื่องปรับอากาศที่ ท่ามกลางอากาศร้อน ยิ่งทำให้กินไฟมากขึ้นจริง จากผลการทดลองพบว่า หากอากาศร้อนขึ้น 6 องศาเซลเซียส ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น 14%
ผลการเปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU ตั้งค่าที่ 26 องศาเซลเซียส ที่อุณหภูมิภายนอก 35 องศาเซลเซียส
เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 0.69 หน่วย
เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 5.52 หน่วย
เปิดแอร์ 1 เดือน ใช้ไฟฟ้า 165.6 หน่วย (การคิดหน่วยการใช้ไฟฟ้ารายเดือน สมมติให้เป็นการเปิดเครื่องปรับอากาศ 8 ชั่วโมง ต่อวัน นาน 30 วัน)
ผลการเปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU ตั้งค่าที่ 26 องศาเซลเซียส ที่อุณหภูมิภายนอก 41 องศาเซลเซียส
เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 0.79 หน่วย
เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 6.32 หน่วย
เปิดแอร์ 1 เดือน ใช้ไฟฟ้า 189.6 หน่วย (การคิดหน่วยการใช้ไฟฟ้ารายเดือน สมมติให้เป็นการเปิดเครื่องปรับอากาศ 8 ชั่วโมง ต่อวัน นาน 30 วัน)
ค่าไฟแพง
ค่าไฟแพง
นอกจากนี้ การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยๆ การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้นทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น ล้วนทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
การทดสอบของการไฟฟ้านครหลวง ยืนยันว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ถึงแม้ระยะเวลาใช้เท่าเดิม หรือตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม
ไม่เพียงแอร์ที่ทำงานหนักหน้าร้อน พฤติกรรมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ก็มีผลทำให้ค่าไฟพุ่งได้เหมือนกัน เช่น การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยๆ เอาของร้อนแช่ บางบ้านใช้น้ำมาก-ปั๊มน้ำก็ทำงานมากขึ้น ผลลัพธ์ก็อยู่ในบิลค่าไฟ