• November 11, 2022

    บนเส้นทางสู่อมตะ resveratrol
    หมอดื้อ

    เวลาเที่ยงพักกินข้าวเป็นเวลาที่ผู้เขียนมีความสุขมาก นอกจากกินข้าวกล่องที่ซื้อจากโรงอาหาร ก็จะเป็นเวลาที่ได้อ่านและรับชม-ฟัง นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้ได้รับรางวัลโนเบลมาพูดให้ฟังโดยผ่านทางอินเตอร์เน็ท สถาบันที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกมานานหลายสิบปี คือ New York Academy of Science ซึ่งเราสามารถรับรู้ข้อมูล และดูวิดีโอการบรรยายได้เหมือนกับไปนั่งฟังจริงๆ
    ที่ทึ่งมากเป็นพิเศษและเป็นที่มาของบทความนี้ คือการเสนอผลงานค้นคว้าเกี่ยวกับสาร ซึ่งมีในไวน์แดงที่มีชื่อว่า Resveratrol และตีพิมพ์ในเดือนมกราคม 2011 และหลังจากนั้นมีการประชุมเป็นระยะ โดยสรุปใน E-Briefing (กุมภาพันธุ์ 2011) และในเวลาไม่นานมีบทความในวารสาร Scientific American (มกราคม 2012) ในเส้นทางสู่การมีอายุยืน

    ความเป็นอมตะ คือมีชีวิตยืนยาวสุขภาพดีสมองไม่เสื่อม ไม่มีโรคเกี่ยวเนื่องกับอายุขัยเป็นสิ่งที่มนุษย์ (โดยเฉพาะตั้งแต่เลข 4 ขึ้นไป) แสวงหา กลไกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดที่ทำให้อายุยืนยาวแต่ไม่มีใครทำคือทำให้ตกอยู่ในภาวะอดอาหาร โดยเฉพาะขาดกลูโคสหรือน้ำตาล (Starvation และ Caloric Restriction) ซึ่งพิสูจน์ได้ในสัตว์ทดลองเช่นหนู ตั้งแต่ 80 ปีมาแล้วโดย Clive McCay และ Mary Crowell จากมหาวิทยาลัย Cornell และเป็นจริงในลิงเช่นกัน

    ในราวปี 1950 เป็นต้นมา Denham Harman ที่มหาวิทยาลัย California, Berkley ได้พัฒนาความรู้โดยเชื่อมโยงกับกระบวนการเกิดออกซิเจนพิษ (oxygen free radical species) ในร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกลไกทั้งหมดเท่านั้น
    อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงดูจะมุ่งไปสู่ Sirtuins ซึ่งเป็นโปรตีนควบคุมกระบวนการในร่างกาย ซึ่งโดยปกติจะนิ่งเงียบกบดานอยู่ (silent information regulator หรือ SIR) และพบได้ตั้งแต่ในยีสต์ถึงมนุษย์ โดยกลุ่มของ Leonard Guarente และได้ตีพิมพ์ผลงานในปี 1995 ในวารสาร Cell และพบว่า SIRT 4 มีบทบาทในการยืดอายุของยีสต์ ในช่วงเวลา 10 ปี จากปี 2000-2011 มีงานวิจัยเกี่ยวกับ SIR และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องเกือบ 1,200 ฉบับ โดยการประชุมซึ่งจัดโดย NYAS มีนักวิทยาศาสตร์จาก Weill Cornell Medical College จาก Ecole Polytechnique Federale Lausanne จาก MIT และจาก Gladstone Institute (UCSF) รวมทั้งจาก Harvard Medical School

    นอกจากที่ Sirtuins จะเกี่ยวพันถึงกระบวนการอดอาหาร (ให้อายุยืน แข็งแรง) ยังเชื่อมโยงไปถึงโมเลกุลขนาดเล็กที่ชื่อว่า Resveratrol ในระบบการรับรู้ของเซลล์ ในการปรับผันการใช้น้ำตาล กลูโคสหรือไกลโคเจน (Glycogen) เมื่ออยู่ในภาวะอดอาหาร ขาดพลังงาน และหันไปใช้กรดไขมันเป็นแหล่งพลังงานแทน ทั้งนี้จะผ่านทางเอนไซม์หลัก 3 ตัว คือ AMPK (AMP-activated protein kinase) จะตอบสนองต่อ AMP และ ATP ในขณะที่ SIRT1 ต้องการ NAD+/NADH และ GCN5 จะตอบสนองต่อ Acetyl-CoA ทั้ง 3 ตัวหลักจะมีผลต่อการทำงานของ PGC-1α ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นหรือควบคุมการทำงานของโรงงานของเซลล์ คือ ไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ทั้งนี้ SIRT1 จะกระตุ้น PGC-1α ในบทบาทของเอนไซม์ deacetylase และ acetylase จะยับยั้ง PGC-1 α Resveratrol เกี่ยวกับโรงงานของเซลล์ โดยผ่านทาง AMPK ซึ่งทำให้ระดับของ NAD+เพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการกระตุ้น SIRT1 ส่งผลควบคุม PGC-1α (ร่วมกับ GCN5และSRC3) และ SIRT1 ยังมีผลต่อ FOXO (Foxhead Box Transcription Factor Type 0) ทั้งหมดนี้จะควบคุมการทำงานของไมโตคอนเดรียและความสมดุลย์ของพลังงานระดับเซลล์

    ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระดับ NAD+ ที่สูงขึ้นเป็นแกนกลางสำคัญ โดยจะเพิ่มปริมาณและการทำงานของ SIRT1 ส่งผลควบคุม ยั้บยั้งการทำงานของเอนไซม์ PARP (Poly-ATP-Ribosome Polymerase) ซึ่งเป็นตัวสำคัญในกลไกที่ทำให้เซลล์ตาย หรือในทางกลับกันมีการซ่อมแซมของเซลล์ เพราะฉะนั้นในหนูที่ขาดพลังงานจากกลูโคส แม้ได้รับไขมันเพิ่มก็ตาม กลับผอมเพรียวขึ้น และไม่มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน โดยในเซลล์จะมีจำนวนไมโตคอนเดรียเพิ่มขึ้นและตัวใหญ่ขึ้น ในการศึกษาต่อมายังพบว่า SIRT1 ยังมีบทบาทแม้แต่ในภาวะที่อาหารเหลือเฟือ และการที่มี SIRT1 มากขึ้น ยังช่วยบรรเทาอาการของหนู ที่เป็นโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมที่มีการเคลื่อนไหวและสติปัญญาบกพร่อง คือ โรค Huntington ตัว SIRT1 ยังมีผลต่อรูปร่างความผิดปกติของตัวอสุจิ (sperm) ทั้งนี้ถ้าปรับพันธุกรรมของหนูให้เซลล์อัณฑะขาด SIRT1 ตัวอสุจิจะผิดปกติ นอกจาก SIRT1 ยังมี SIRT3 ซึ่งปรับระดับของออกซิเจนพิษในเซลล์และเมตาบอลิซึมในกรดไขมัน ซึ่งมีผลในโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขมัน เบาหวาน อ้วน เป็นต้น รวมทั้งจากการที่ SIRT3 เป็น Sirtuin หลักที่อยู่ในไมโตคอนเดรีย ดังนั้น SIRT3 จะสามารถควบคุมมะเร็งทั้งขนาดและการกระจายโดยผ่านโมเลกุลออกซิเจนพิษ

    จนถึงตรงนี้อาจยังนึกภาพไม่ออกว่าอาหารเสริมจะช่วยอะไร Resveratrol มีความเกี่ยวพันกับ Sirtuin ต่างๆ และระดับของ NAD+ ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นของกระบวนการปรับความสมดุลย์ของพลังงาน คงความมั่นคงแข็งแรงของโรงงานในเซลล์ คือ ไมโตคอนเดรีย ปรับสภาพเซลล์ให้คงทนอยู่ได้ และซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย และส่งผลในการบรรเทาโรคที่เกี่ยวข้องกับเมตาบอลิซึมทั้งหลาย รวมทั้งเบาหวาน โรคไขมันสูง เป็นต้น
    โลกได้รับทราบสรรพคุณของไวน์ที่มีผลต่อสุขภาพจากรายงานของฝรั่งเศสในปี 1992 ในไวน์มีระดับแอลกอฮออล์ 11-14 % และมีสารประกอบ Polyphenols ซึ่งตัวเสริมสุขภาพในไวน์นั้นได้จากทั้งแอลกอฮออล์ (ดังที่ดื่มวิสกี้ วอดก้า บรั่นดี ไวน์ขาว ในปริมาณชาย 2 หญิง 1แก้ว ก็ดีทั้งนั้น) และได้จาก สารPolyphenols Resveratrol อยู่ในเปลือกขององุ่น (ในไวน์แดง) และผลไม้นานาชนิด เช่น Cranberry,Mulberry,Lingonberry,Bilberry,Partridgeberry,Sparkleberry, Blueberry, Jackfruit, Peanut แม้กระทั่งใบและดอกของต้นไม้หลายชนิด Resveratrol ที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ในปัจจุบันเตรียมจากรากแห้งของ Polygonum Cuspidatum ในญี่ปุ่นและจีน โดยที่สมุนไพรที่สกัดจาก Polygonum ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อรา โรคผิวหนัง โรคตับ และโรคหัวใจมาแต่โบราณกาล ในส่วนที่เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ถัดจากกลไกระดับในเซลล์ออกมา คือ Resveratrol ยับยั้งกระบวนการ LDL (ไขมันเสีย) Peroxidation ซึ่งนำสู่เส้นเลือดตีบ และเพิ่มไขมันดี HDL และกระตุ้นให้เส้นเลือดมีความยืดหยุ่น ขยายขนาดได้มากขึ้น โดยผ่านทาง nitric oxide ยับยั้ง Endothelin ซึ่งทำให้เส้นเลือดหดตัว และอาจมีผลทำให้เลือดไม่หนืด และการล้นทะลักของเลือดกลับเข้ามามากเกินไป มายังเนื้อเยื่อที่ขาดเลือด และปรับสภาพการทำงานของหัวใจ (Pre-Conditioning) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการปกป้องหัวใจจากโรค ในส่วนของสมองและระบบประสาท Resveratrol ยังสามารถซึมผ่านเข้าสมอง ทั้งๆที่สมองจะมีระบบป้องกันเข้มงวดจากผนังปราการที่หลอดเลือด (Blood Brain Barrier) และส่งผลปรับการทำงานของเซลล์ Astrocyte ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Glutamate และการอักเสบที่เกี่ยวพันกับโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน นอกจากนั้นยังมีผลต่อการฟื้นฟูสภาพ และการปรับเพิ่มพูนประสิทธิภาพของระบบประสาท และการหลั่งของสารสำคัญคือ trophic factor S100B

    ที่กล่าวมายืดยาว เป็นเครื่องแสดงว่าการคัดสรรอาหารเสริมไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
    ถึงแม้ Resveratrol จะดู “เก่ง” เพียงใด แต่ในทางสู่อมตะ แม้ว่าจะมีผลในการยืดอายุของหนูที่ให้อาหารไขมันสูงก็ตาม แต่ในหนูที่ได้อาหารปกติกลับอายุไม่ยืนกว่าเดิมตามที่คาด แม้ว่ากลไกในการปกป้องเซลล์จะคงมีอยู่ก็ตาม

    จนกระทั่งถึงปัจจุบันในปี 2022 ข้อมูลเกี่ยวกับสารที่มีอยู่ในองุ่นนี้ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางและมีผลในการลดความรุนแรงของการติดเชื้อรวมทั้งโควิดและจนกระทั่งมีกลไกในเรื่องสมองเสื่อมต่างๆในหลายตำแหน่ง และ ร่างกายในทุกระบบ

    แต่จะดีอย่างไรก็ตาม สุขภาพของตนเองอยู่ที่ตัวเราเอง อาหารเข้าใกล้มังสวิรัติ งด ลดแป้ง กินปลาได้ อย่าปล่อยให้ท้องผูก กินน้ำเยอะๆ เดินตากแดดวันละ 10,000 ก้าว

    จะปีใหม่แล้ว ต้องสดใสกว่าเก่าสุขภาพแข็งแรงนะครับ รักและเป็นห่วงทุกคน



เวอไนน์ไอคอร์ส

ประหยัดเวลากว่า 100 เท่า!






เวอไนน์เว็บไซต์⚡️
สร้างเว็บไซต์ ดูแลเว็บไซต์

Categories


Uncategorized