Probiotics มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดล้วนมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป
Probiotics ที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมของอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีดังนี้
- แล็กโทบาซิลลัส (Lactobacillus) แบคทีเรีย มักพบในโยเกิร์ต ของดอง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางยี่ห้อ ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง
- บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) แบคทีเรียมักพบในผลิตภัณฑ์นมอย่างโยเกิร์ตหรือชีส อาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาภาวะลำไส้แปรปรวน และความผิดปกติอื่น ๆ
- แซกคาโรไมซีส เบาลาร์ดดิ (Saccharomyces Boulardii ) เป็นจุลินทรีย์จำพวกยีสต์ชนิดหนึ่ง อาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและปัญหาในระบบย่อยอาหารอื่น ๆ
หลักการบริโภค Probiotics อย่างปลอดภัย
โดยปกติ Probiotics ในอาหารและอาหารเสริมที่ผ่านการรับรองมาตรฐานนั้นค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ผู้บริโภคบางรายอาจเผชิญกับผลข้างเคียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะช่วง 2-3 วันแรกที่เริ่มกิน Probiotics เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องเสีย ท้องอืด เป็นต้น
ในปัจจุบัน Probiotics ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีวางจำหน่ายตามท้องตลาดหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ แบบน้ำสำหรับเด็ก รวมถึงนมผงชนิดที่มี Probiostics เป็นส่วนผสม
ไม่ใช่โพรไบโอติกทุกสายพันธุ์ที่จะมีความปลอดภัยหรือให้ผลทางการรักษาและป้องกันโรคได้ ดังนั้น ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลทางโภชนาการและความปลอดภัยให้ดี เลือกบริโภคอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐานรับรอง รวมทั้งเลือก Probiotics สายพันธุ์ที่มีการศึกษายืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยเฉพาะสำหรับโรคหรือกลุ่มผู้ป่วยนั้น ๆ แล้ว และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนบริโภคผลิตภัณฑ์ใด ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว เพื่อการคงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดีของตัวผู้บริโภคเอง