แม้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จะมีเจตนารมณ์เพื่อมุ่งคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงาน โดยให้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ใดจะละเมิดสิทธินั้นมิได้ แต่เนื่องจากประชาชนยังไม่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวอย่างถ่องแท้ ทำให้เหล่ามิจฉาชีพ อาศัยความไม่รู้กฎหมายเป็นเครื่องมือหาประโยชน์จากประชาชนผู้ไม่รู้ได้ จึงขอยกตัวอย่างกรณีนี้ กล่าวคือ
นาย ก เปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในย่านมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ต่อมาวันหนึ่ง นาย ข ได้นำคอมพิวเตอร์มาซ่อม ทั้งยังว่าจ้างให้นาย ก ลงโปรแกรม Microsoft Office ให้ด้วย แม้นาย ก จะปฏิเสธว่าลงให้ไม่ได้ ตนไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์โปรแกรมดังกล่าว แต่นาย ข ก็อ้อนวอนต่างๆนานาว่าช่วยลงให้หน่อยเถอะ จะเถื่อน หรือยังไงก็ได้ จะให้ค่าจ้างเพิ่มเป็น 2 เท่า
วันถัดมาซึ่งถึงกำหนดนัดรับคอมพิวเตอร์ นาย ข มากับนาย ค ซึ่งอ้างว่าเป็นนายตำรวจนอกเครื่องแบบ
โดยนาย ข แสดงตนว่าเป็นตัวแทนของบริษัท Microsoft เจ้าของลิขสิทธิ์ ขอตรวจดูคอมพิวเตอร์ว่านาย ก ได้ลงโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ นาย ก ซึ่งลงโปรแกรมเถื่อนตามที่ นาย ข อ้อนวอนจริง เริ่มหน้าซีด กลัวติดคุก ไม่มีเงินประกันตัว ทำยังไงดี…..?
นาย ข เลยเสนอทางออกให้ ว่าถ้าอย่างนั้นก็จ่ายมา 50,000 บาทละกัน จะไม่เอาความอะไรด้วย ดีกว่าต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล เสียค่าประกันตัวอีกเป็นแสนๆนะ ด้วยความกลัวและไม่รู้กฎหมาย นาย ก จ่ายเงินให้ นาย ข ไป 50,000 บาท นาย ข เดินยิ้มกลับบ้านไปอย่างสบายอารมณ์และเตรียมตัวหลอกเหยื่อรายต่อไป…
แต่ถามว่า ถ้าท่านเป็น นาย ก ท่านจะยอมเสียเงินดังกล่าวเช่นนาย ก ไหม หรือจะหาทางออกด้วยวิธีอื่น
ดิฉันจะขอยกฎีกานี้ขึ้นเพื่อเป็นทางออกอีกทางหนึ่งสำหรับท่าน (จะได้ไม่ต้องเสียค่าโง่ (เพราะไม่รู้กฎหมาย) และต้องมาเจ็บใจทีหลัง)
คำพิพากษาฎีกาที่ 4301/2543 การที่จำเลยกระทำความผิดโดยทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่ ส. ตามที่ ส.ได้ ล่อซื้อ นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับการจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ดังนั้น ถ้าดิฉันเป็นนาย ก ดิฉันคงยอมให้ นาย ข ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ดำเนินการฟ้องร้องดิฉันเป็นจำเลยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ เพราะหากเรื่องขึ้นสู่ศาลฯ ดิฉันจะได้ต่อสู้ในประเด็นว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เพราะได้ล่อซื้อจากดิฉัน เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ดิฉันกระทำความผิดดังกล่าวขึ้น (เพราะดิฉันไม่ได้มีเจตนากระทำความผิดนั้นอยู่ก่อน) โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ตามแนวคำพิพากษาฎีกาข้างต้น เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง ดิฉันก็หลุด ไม่ต้องเสียเงินค่าเสียหาย(ค่าโง่) เช่น นาย ก แต่อย่างใด
สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ( เช่น เรื่องหนังสือมอบอำนาจของตัวแทน หมายค้น กระบวนพิจารณาในศาลฯ) ดิฉันจะขอพูดในคราวต่อไป เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบและทำความเข้าใจ ไม่เสียรู้พวกสิบแปดมงกุฎอีกต่อไป